ประเทศจีนมีการนำเข้าและบริโภคทุเรียนมากที่สุดในโลก หลังจากที่จีนทยอยเปิดตลาดทุเรียนสดให้ชาติสมาชิกอาเซียนเข้ามาในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ซึ่งข้อมูล 10 เดือนแรกในปี 2567 พบว่าการนำเข้าทุเรียนของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 1.5478 ล้านตัน รวมมูลค่าการนำเข้ามากกว่า 50,600 ล้านหยวน แบ่งเป็น 1) การนำเข้าทุเรียนสด มากถึง 1.487 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 47,237 ล้านหยวน และ 2) การนำเข้าทุเรียนแช่แข็ง เนื้อทุเรียนและทุเรียนผลสุกที่แช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว รวมมากกว่า 60,000 ตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 3,385 ล้านหยวน
โดยล่าสุด เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้พัฒนารูปแบบการค้า “เนื้อทุเรียน” แบบใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศจีน คือ การนำเข้าเนื้อทุเรียนไทย ผ่านทางทะเลในรูปแบบการค้าชายแดนจากท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือชินโจว (กว่างซี) – เขตการค้าตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนผู่จ้าย (เมืองผิงเสียง กว่างซี) ซึ่งเป็นการข้ามกรอบคำนิยามการค้าชายแดนที่เป็นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน ถือเป็นการพัฒนาช่องทางการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศรูปแบบใหม่ระหว่างจีน (กว่างซี) กับต่างประเทศ นอกจากจะช่วยภาคธุรกิจลดต้นทุนด้านการนำเข้า (การค้าในรูปแบบการค้าชายแดน ผู้นำเข้าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี) ยังช่วยเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปบริเวณชายแดน ทั้งนี้การนำเข้าในรูปแบบดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อการแปรรูปในพื้นที่ชายแดน

โดยเนื้อทุเรียนไทยล็อตแรกจะส่งออกจากท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อมุ่งหน้าไปยังท่าเรือชินโจว โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน ก่อนจะเคลื่อนย้ายด้วยรถบรรทุกเพื่อไปดำเนินการผ่านศุลกากรที่ด่านการค้าชายแดนผู่จ้ายและส่งไปแปรรูปในโรงงานแปรรูปของบริษัท Guangxi Zhongguo Industrial Co.,Ltd ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมผิงเสียง โดยผู้นำเข้าได้รับการอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ศุลกากร ช่วยให้สินค้าสามารถส่งถึงมือผู้นำเข้าอย่างรวดเร็ว หลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าตกค้างบริเวณด่าน
ซึ่งเดิมทีบริษัทฯ นำเข้าผลไม้เวียดนามผ่านด่านทางบก แต่ปัจจุบันบริษัทฯ นำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยด้วย อีกทั้งเห็นว่าการขนส่งทางทะเลระหว่างไทยกับจีนมีความสะดวกรวดเร็ว ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้บุกเบิกพัฒนาโมเดลการนำเข้าสินค้าทางทะเลเพื่อการแปรรูปบริเวณชายแดน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการนำเข้าวัตถุดิบของบริษัทฯ และจะผลักดันการนำเข้าสินค้าจากไทยและมาเลเซียผ่านโมเดลนี้มากขึ้น
ผลสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากการบูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) พื้นที่ย่อยฉงจั่วกับพื้นที่ย่อยท่าเรือชินโจวที่ได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการบุกเบิกพัฒนาธุรกรรมนำร่องในการนำเข้าสินค้ารูปแบบตลาดการค้าชายแดนผ่านการขนส่งทางทะเลเพื่อนำไปแปรรูปในพื้นที่ชายแดน” เมื่อเดือนตุลาคม 2567 และได้มีการศึกษาวิจัยด้านการตลาดและต้นทุนในการนำเข้าเนื้อทุเรียนแช่แข็งและเนื้อมะม่วงแช่แข็งในรูปแบบดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานศุลกากรผิงเสียง สำนักงานกิจการภาษี สหกรณ์การค้าชายแดนและธนาคาร Bank of China สาขาฉงจั่ว เพื่อร่วมกันดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาแนวทางในการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการทางศุลกากร การขนส่ง การชำระภาษีและการโอนชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศ ทำให้การนำเข้าเนื้อทุเรียนไทยล็อตแรกเป็นไปด้วยความราบรื่น
จากข้อมูลพบว่าโครงสร้างการบริโภคผลไม้ของประเทศจีน ร้อยละ 70 เป็นหารบริโภคผลไม้สด ร้อยละ 23 เป็นการบริโภคผลไม้แห้ง ที่เหลืออีกร้อยละ 7 เป็นการแปรรูปเชิงลึก ตลาดผลไม้สดและผลไม้แปรรูปเชิงลึกจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้โมเดลการค้าใหม่ดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสทองทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผลไม้และเนื้อผลไม้ เช่น ทุเรียน มะม่วง เสาวรสและขนุน ซึ่งตลาดจีนมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว หรือการแปรรูปขั้นต้น เพื่อเป็นส่วนประกอบในอาหารหรือขนมหวานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผลไม้อบแห้ง ผลไม้ฟรีซดราย ผลไม้บรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ แยมผลไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของผลไม้ ทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมบริโภค (Ready to eat : RTE) และอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook : RTC) ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาขึ้นหลายรูปแบบและเมนูในตลาดจีน
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง