จากการรายงานของสำนักงานศุลกากรเเห่งชาติจีน (GACC) เปิดเผยว่าในช่วง 11 เดือนเเรกของปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนเติบโตขึ้น 22% อยู่ที่ 35.39 ล้านล้านหยวน โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 19.58 ล้านล้านหยวน โตขึ้น 21.8% เเละมีมูลค่าการนำเข้า 15.81 ล้านล้านหยวน เติบโต 22.2% ซึ่งในช่วงดังกล่าวอาเซียนยังคงเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับเเรกของจีน โดยจีนทำการค้ากับอาเซียนเป็นมูลค่า 5.11 ล้านล้านหยวน นับว่าโตขึ้น 20.6% จากช่วงปี 2563 เเละคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14.4% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน
.
ปัจจัยที่ควรติดตามสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจขยายตลาดสินค้าไปสู่ประเทศจีนหรือหาลู่ทางสู่ตลาดผู้บริโภคจีน คือ อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยของจีนที่มีเเนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจาก 15.3% เมื่อปี 2544 มาอยู่ที่ 7.4% ในปัจจุบัน รวมถึงระยะเวลาในช่วงขั้นตอนทางศุลกากรปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดเกือบ 62.3% เหลือเพียง 36.7 ชั่วโมง เเละการที่จีนปรับลดเอกสารที่ต้องการตรวจสอบในขั้นตอนการนำเข้าที่ลดลงกว่าครึ่งจาก 86 รายการในปี 2561 เหลือเพียง 41 รายการในปี 2564
.
ปัจจุบัน แม้ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนจะเน้นการผลิตในประเทศ แต่กลุ่ม ASEAN ยังเป็นคู่ค้าที่จีนพึ่งพาการนำเข้าอยู่ ประเทศกลุ่ม ASEAN เป็นข้อต่อสำคัญของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคของจีน (Regional Supply Chain) ภายหลังการย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อเลี่ยงการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ รวมทั้งเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน เนื่องจากค่าจ้างเฉลี่ยแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของจีนสูงกว่าไทยและเวียดนามประมาณ 8 เท่า
.
การที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีนจึงมีการส่งออกที่ขยายตัวสอดคล้องกับตลาดจีน อย่างไรก็ตาม นโยบายพึ่งพาตนเองของจีนที่เข้มข้นขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการส่งออกไทย เพราะกว่า 30% ของสินค้าที่ไทยส่งออกเป็นกลุ่มที่จีนลดการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง แม้บางสินค้าจะเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจจีนที่เปลี่ยนไป แต่ก็มีบางสินค้าที่เป็นโอกาสของไทยได้เช่นกัน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไปจีน คิดเป็นอันดับ 1 ในปี 2019 ซึ่งจีนมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้าน Digital ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง