ผาโจวเป็นเกาะหนึ่งอยู่ใจกลางนครกว่างโจว พื้นที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของจีนมาแต่เดิม โดยเป็นที่ตั้งของท่าเรือหวงผู่ ซึ่งเป็นท่าเรือแห่งเดียวในช่วงราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 – 1911) ที่รัฐบาลเปิดให้ทำการค้ากับต่างประเทศในระหว่างปี ค.ศ. 1757 – 1842 ทำให้เศรษฐกิจย่านผาโจวพัฒนาจนกลายมาเป็นย่านอุตสาหกรรมและโรงงานในที่สุด โดยในช่วงแรก อุตสาหกรรมและโรงงานในผาโจวยังคงเป็นแบบเก่าที่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงมากนัก ต่อมาผาโจวเริ่มเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากการเปิดใช้อาคารแสดงสินค้า Canton Fair ซึ่งเริ่มตั้งแต่การจัดงานครั้งที่ 104 เมื่อปี 2551 เป็นต้นมา
.
ปัจจุบัน ผาโจวได้รับการฟื้นฟูให้กลายเป็น Central Business District (CBD) แห่งใหม่ของนครกว่างโจว และถือเป็น Silicon Valley ของนครกว่างโจวด้วย โดย CBD ผาโจวเน้นการเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทด้านเทคโนโลยี พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-Commerce) และรัฐวิสาหกิจของท้องถิ่น ซึ่งแตกต่างจาก CBD แห่งอื่นในนครกว่างโจวที่เน้นอุตสาหกรรมการเงิน นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาด้านนวัตกรรมอินเทอร์เน็ต เช่น AI และเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนครกว่างโจวต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ วิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้เข้ามาเปิดสำนักงานในย่านผาโจวแล้ว เช่น Alibaba Tencent Fosun iFLYTEK TCL และ Gome เป็นต้น โดยในช่วงปลายปี 2563 วิสาหกิจที่เข้ามาจัดตั้งสำนักงานในผาโจวมีมากกว่า 28,000 แห่ง และสร้างรายได้รวมถึง 269,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า รวมทั้งการจ้างงานภายในพื้นที่ดังกล่าวอาจมีมากถึง 800,000 คน ภายในปี 2578
.
แนวทางการพัฒนาย่านผาโจว
.
ผาโจวแบ่งพื้นที่ใช้งานเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนตะวันตกหรือส่วน A เป็นย่านธุรกิจ และเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ส่วนตรงกลางหรือส่วน B เป็นที่ตั้งศูนย์ประชุม ศูนย์จัดแสดงสินค้า และส่วนตะวันออกหรือส่วน C เป็นที่พักอาศัย ทั้งนี้ ย่านผาโจวมีความโดดเด่น 3 ประการ ได้แก่ (1) มีทำเลที่ตั้งที่ดี เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับ CBD แห่งอื่น ได้แก่ Zhujiang New Town และ Financial Town (2) มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้จัดสรรพื้นที่เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ เช่น ย่านการค้า ลานจอดรถ และลานออกกำลังกายสาธารณะ (3) มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เน้นการปรับปรุงภูมิทัศน์และพื้นที่สีเขียว เช่น ปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำ สร้างสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้เพื่อตกแต่งสถานที่ และจัดไฟ
.
นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังให้ความสำคัญกับการเดินทางทั้งภายในย่านผาโจวและระหว่างพื้นที่อื่น ๆ โดยให้ความสำคัญกับการเดินทางข้ามแม่น้ำจูเจียงและการเชื่อมต่อกับสถานีขนส่งสาธารณะ เช่น การเดินทางไปยังฮ่องกงและมาเก๊าทางเรือซึ่งใช้เวลา 1 ชั่วโมง การเดินทางไปยังเขตการค้าเสรีหนานซาซึ่งใช้เวลา 30 นาที การเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติไป๋หยุนซึ่งใช้เวลา 25 นาที และการเดินทางไปยังสถานีรถไฟกว่างโจวตะวันออกและกว่างโจวใต้ซึ่งใช้เวลา 10 นาที เป็นต้น ทำให้การเดินทางภายในกรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong – Macau Greater Bay Area-GBA) สะดวกมากขึ้น และสามารถตอบโจทย์นโยบาย Guangzhou – Hong Kong – Macau 1 hour economic circle รวมทั้งในขณะเดียวกัน ยังช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมภายใน GBA อีกด้วย
.
ทำไมถึงพัฒนาย่านผาโจว
.
ในช่วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในนครกว่างโจวเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งต้องขยายสำนักงาน แต่กลับประสบปัญหาค่าเช่าพื้นที่สำนักงานราคาสูง คุณภาพไม่ดี หรือพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการขยายหรือสร้างสำนักงานใหม่ในย่านธุรกิจเดิม อีกทั้งที่ตั้งบริษัทแต่ละแห่งกระจายตัวตามพื้นที่ต่าง ๆ ในนครกว่างโจว ทำให้ไม่สามารถเกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมได้ ดังนั้น การจัดตั้ง CBD ที่ผาโจวจะช่วยรองรับการเติบโตและตอบโจทย์การส่งเสริมการรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ถูกวางแผนให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ โดยให้ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานต่ำกว่าค่าเช่าพื้นที่สำนักงานใน CBD อื่น ๆ นอกจากนี้ การมีสำนักงานที่มีคุณภาพดีและมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานยังช่วยดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพได้อีกด้วย ผาโจวซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีจะเป็นเขตหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนครกว่างโจวและ GBA ในอนาคต และเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองธุรกิจและย่านอุตสาหกรรมดั้งเดิมด้วย
.
ในส่วนของไทย
.
คงไม่นานเกินรอที่ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์หรือซิลิคอนวัลเลย์ของไทยจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงานในตำแหน่งงานที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ เสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งชูนโยบายการเป็นประตูสู่อาเซียนในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ในระหว่างที่รอความสมบูรณ์แบบของโครงการข้างต้น ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยสามารถติดตามศักยภาพและกลยุทธ์ของนครกว่างโจวในการดูแลและพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อพิจารณาสิทธิประโยชน์จากนโยบายท้องถิ่นมาประกอบการตัดสินใจลงทุน ตั้งสำนักงาน และทำธุรกิจในพื้นที่ หรือศึกษาตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมเฉพาะ เพื่อนำมาใช้เป็นโมเดลธุรกิจการพัฒนาเมืองหรือพื้นที่ในประเทศไทยต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
.
ที่มาของข้อมูล
http://www.newsgd.com/news/2015-10/26/content_135565587.htm
http://www.newsgd.com/news/exclusive/content/2020-04/10/content_190724694.htm
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1680579395081946020&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1696618591917310997&wfr=spider&for=pc
https://www.sohu.com/a/332643564_100286686
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1673106116080407198&wfr=spider&for=pc
https://www.chinadaily.com.cn/cndy/2015-10/22/content_22249714.htm
https://www.163.com/dy/article/E12UAP0F0515CD58.html
http://news.focus.cn/gz/2013-03-29/770385.html
https://m.sohu.com/a/196621501_99911950
https://thaibizchina.com/article/pazhou_cbd/
https://aspa.mfa.go.th/th/content/77940-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B9%8C-(silicon-valley)-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%B0?page=5d6abf1d15e39c064800203f&menu=5d6abf1c15e39c0648001fc7