การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2564 มีการรับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีฉบับที่ 14 และวิสัยทัศน์ปี ค.ศ. 2035 โดยระบุเป้าหมายหลักภายในปี ค.ศ. 2035 ว่า ประชาชนจีนทั้งหมดจะมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common prosperity) โดยเข้าถึงการพัฒนาที่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมที่เห็นได้เด่นชัด (全体人民共同富祫取得便为明显的实质性进展) เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาการพัฒนาภายในประเทศที่ไม่สมดุล มีความเหลื่อมล้ํา มีความแตกต่างของรายได้สังคมเมืองและชนบท ให้ความสําคัญกับการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม การกินดีอยู่ดีของประชาชนมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ด้อยพัฒนาของจีน และถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาล จีนประกาศเป้าหมายระยะยาวดังกล่าว และจีนได้เข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการพัฒนา โดยมีเป้าหมายในความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันเป็นพื้นฐานสําคัญของหลักการสังคมนิยม
.
เมื่อ 8 มี.ค. 2560 นายหู จู่ไฉ (Hu Zucai) รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (National Development and Reform Commission: NDRC) ได้แถลงว่าเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ “เจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” (共同富祫) รัฐบาลจีนจะดําเนินการใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) จัดทําแผนเพื่อผลักดันเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้มีแนวทางการดําเนินการที่ชัดเจน และ (2) สนับสนุนการพัฒนาอย่างมีคุณภาพในมณฑลเจ้อเจียง โดยผลักดันให้เป็น “พื้นที่ตัวอย่างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” โดยย้ําว่าเจ้อเจียงมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมในทุกเมือง ซึ่งการจัดทําแผนพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนา “โมเดลเจ้อเจียง” ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และเป็นโมเดลการพัฒนาที่สามารถประยุกต์ใช้ในมณฑลอื่น ๆ ของจีน
.
มณฑลเจ้อเจียงได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของยุทธศาสตร์การพัฒนาภายในประเทศแห่งใหม่ของจีนเนื่องจากที่เจ้อเจียงมีการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับสูงมาก มีขนาด GDP เป็นอันดับที่ 4 ของจีน (6.46 ล้านล้านหยวน) รองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู และชานตง แต่กลับมีระดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยที่สุด โดยในปี 2563 เจ้อเจียง มีรายได้ต่อหัวของประชากรภายในเมือง 62,699 หยวน และในชนบท 31,930 หยวน ทั้งยังขจัดความยากจนได้หมดตั้งแต่ ปี 2558 นอกจากนี้ สัดส่วนของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจยังสูงถึงร้อยละ 65 ของ GDP (สูงที่สุดในจีน)
.
มณฑลเจ้อเจียงมีการพัฒนาระดับเมืองที่มีศักยภาพสูงมาก เช่น (1) นครหางโจว เป็นเมืองเอกและศูนย์กลาง ด้านนวัตกรรม ดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะของจีน โดยเป็นที่ตั้งของเครืออาลีบาบา ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน และตั้งเป้าเป็นเส้นทางสายไหมด้านดิจิทัลของจีน ผลักดันการนํา Big Data/ Cloud Computing/ AI มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม (2) เมืองอี้อู เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการค้าส่งสินค้าเบ็ดเตล็ด (ตลาดค้าส่งอี้อู) และได้รับการขนานนามโดยธนาคารโลกว่าเป็น “ตลาดขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก” โดยในปี 2562 เมืองอี้อูมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ 2.8 แสนล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศ ของเจ้อเจียง เป็นจุดเริ่มต้นของ “New Eurasian Land Bridge” ระหว่างจีน-ยุโรป “อี้อู-มาดริด” ซึ่งเป็น เส้นทางโลจิสติกส์แบบรางที่ยาวที่สุดในโลก (3) เมืองหนิงโป เป็นเมืองท่าสําคัญโดยมีปริมาณของสินค้าขนส่งที่ท่าเรือ หนิงโป-โจวซานมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง 12 ปี และมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย SMEs เป็นฐานการผลิตสิ่งทอ (1 ใน 4 ของตลาดจีน) เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และอุตสาหกรรมยานยนต์ชั้นนําของจีน อาทิ Zhejiang Geely
.
ในการจัดอันดับรายได้ต่อหัวของประชากรในตัวเมืองของจีน มีเมืองของเจ้อเจียงติดอยู่ใน 50 อันดับแรก ถึง 11 เมือง ซึ่งมากที่สุดในจีน เช่น หางโจว (อันดับ 4 รองจากเซี่ยงไฮ้ ซูโจว ปักกิ่ง) และเมืองเส้าซิง (อันดับ 8 สูงกว่า เซินเจิ้นที่อยู่อันดับ 9) และเมืองลี่ฉุ่ย (Lishui) ซึ่งเป็นระดับเมืองที่มีพัฒนาการน้อยที่สุดของเจ้อเจียง ก็ยังอยู่ในอันดับที่ 43 (สูงกว่านครเทียนจินและนครเฉิงตู) โดยนักวิชาการของเจ้อเจียงวิเคราะห์ว่า การผลักดันโมเดลเจ้อเจียงยังเป็นประโยชน์ ในด้านการพัฒนาให้เศรษฐกิจเมืองรอง เช่น ลี่ฉุ่ย ฉูโจว (Quzhou) จินหัว (Jinhua) มีความเจริญทางเศรษฐกิจที่สมดุลกับเมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาสูงกว่าอย่างหางโจว และหนิงโป เป็นต้น
.
นอกจากนี้ การยกเจ้อเจียงขึ้นเป็นโมเดลยังอาจมีเหตุผลทางการเมืองระดับประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา 2 พื้นที่ ในจีนที่ประสบความสําเร็จการพัฒนาทางเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ได้แก่เมืองเซินเจิ้น (เป็นเมืองแรกของจีนที่ผลักดันการพัฒนาปฏิรูปและเปิดประเทศ ในปี 2521) และเขตใหม่ผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ (เป็นเขตการเงินและเศรษฐกิจของจีนในปี 2533) ซึ่งต่างก็เป็นผลงานของนายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นําจีน แต่ในยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กลับยังไม่มีพื้นที่การพัฒนาที่สามารถยกระดับให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่เป็นรูปธรรมและเทียบเคียงกับผลงานของนายเติ้ง เสี่ยวผิงได้ จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่รัฐบาลกลาง เลือกเจ้อเจียงให้เป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาใหม่ในสมัยของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เนื่องจาก เคยดํารงตําแหน่ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน มณฑลเจ้อเจียงเป็นเวลา 5 ปี (2545 – 2550) และมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลและการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั่วทั้งมณฑล และแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ในห้วงการแพร่ระบาดหนักของ COVID-19 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้เลือกเยือนเจ้อเจียงเป็นมณฑลแรกใน มี.ค. 2563 หลังจากนครอู่ฮั่นเพื่อส่งเสริมมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจทั่วประเทศ รวมถึงเมืองเจียซิงของเจ้อเจียงก็ยังเป็นหนึ่งในสถานที่จัดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ครั้งที่ 1 และได้ประกาศจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนขึ้นเป็นครั้งแรก การเลือกเจ้อเจียงให้เป็นโมเดลใหม่ของจีนก็อาจเป็นอีกหนึ่งความพยายามของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในการสร้างมรดกทางประวัติศาสตร์ให้เทียบเคียงกับประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตุง และนายเติ้ง เสี่ยวผิง
.
มณฑลเจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และเป็นเมืองที่มีความพร้อมในด้านการค้า การลงทุน ธุรกิจ SMEs E-Commerce และ นวัตกรรมAI สูง ในส่วนของการส่งออกสินค้าไทยที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เหล็ก แวงวงจรไฟฟ้า ผลไม้สด-แห้ง โดยเฉพาะ มะพร้าวแปรรูปไทย ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยไทยเป็นประเทศที่เจ้อเจียงนำเข้ามะพร้าวอ่อนสูงที่สุด ซึ่งซุปเปอร์มาร์เก็ต Fresh Hema ได้กลายเป็นช่องทางค้าปลีกมะพร้าวสดจากไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน มะพร้าวและผลไม้แปรรูปไทยที่สร้างสรรค์จึงมีโอกาสในการส่งออกไปยังมณฑลเจ้อเจียงอย่างสูงในอนาคต นอกจากนี้ยังได้มีการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศในการเปิดเขตปลอดภาษี เช่น Ningbo Free Trade Zone (NFTZ), Ningbo Export Processing Zone (NEPZ) และ Ningbo Bonded Logistics Zone (NBLZ) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในเรื่องการอํานวยความสะดวกในการชำระภาษีส่งออก รวมถึงได้รับการยกเว้นยกเว้นภาษีผูกมัดและภาษีซื้อ เมื่อเร็วๆนี้ จีนได้มีการเปิดบริการรถไฟขนส่งสินค้าเมืองอี้อู-ฮานอยในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยในเวียดนามจึงสามารถใช้โอกาสนี้ในการขนส่งสินค้าไปยังเจ้อเจียงได้อย่างปลอดภัยและประหยัดเวลา เจ้อเจียงจึงเป็นเมืองที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว
.
สกญ. ณ นครเซี่ยงไฮ้
.
ที่มา:
https://thaibizchina.com/coconut-sgh20/
https://chineseinfo.boi.go.th/images/demo/default/pdf/country-info/60/zhejiang-e.pdf
https://www.xinhuathai.com/china/145097_20201011