เคยสงสัยหรือไม่ว่าอุตสาหกรรมการเกษตรของจีนต้องใช้แรงงานมากเท่าไหร่ในการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อป้อนให้กับผู้บริโภคที่มีมากถึง 1,400 ล้านคน และหากจีนจะพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร จีนจะพัฒนาไปในทิศทางใด ในวันนี้ทางศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว นำเสนอเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของจีนมาให้ผู้อ่านของ globthailand.com ทุกท่าน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีด้านการเกษตรในนครกว่างโจว คือ บริษัท XAG ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเกษตรของจีนด้วยเทคโนโลยี
.
โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมประจำปี 2563 ของบริษัท XAG ซึ่งจัดขึ้นที่นครกว่างโจว ซึ่งภายในงานมีการเปิดตัวเทคโนโลยีและสินค้าด้านการเกษตรที่น่าสนใจมากมาย แต่ก่อนที่จะเล่าถึงพัฒนาการดังกล่าวนั้น ขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับบริษัท XAG บริษัทเทคโนโลยีด้านโดรนและหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีน
.
รู้จักและเข้าใจ XAG
.
บริษัท XAG เป็นบริษัทเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน (Drone) และหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดรนเพื่อการเกษตรมากถึงร้อยละ 50 ของตลาดโดรนเพื่อการเกษตรทั้งหมดของจีน ปัจจุบัน บริษัท XAG มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และการสร้างระบบการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Ecosystem) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการยกระดับการเกษตรของจีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถควบคุมผลผลิตได้อย่างแม่นยำ
.
ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถระดมทุนได้มากถึง 182.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากบริษัท Baidu Capital บริษัท SoftBank Investment Advisers บริษัท Sinovation Ventures บริษัท Yuexiu Industrial Fund เป็นต้น ปัจจุบัน บริษัท XAG ให้บริการเกษตรกรจำนวน 9.31 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกว่า 520,000 ตารางกิโลเมตร ใน 42 ประเทศทั่วโลก และอาจจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในจีนเร็ว ๆ นี้ (ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด)
.
งานการประชุมประจำปี 2563 จัดขึ้นที่นครกว่างโจวโดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,700 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายโดรน บริษัทด้านการลงทุน (Corporate Venture Capital) ธนาคาร และผู้แทนจากสถานกงสุลใหญ่ต่างประเทศในนครกว่างโจว รวมถึงไทย โดยภายในงานมีนายเผิง ปิน (Peng Bin) ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท XAG ได้ขึ้นกล่าว โดยนายเผิงฯ กล่าวว่า “จีนได้ก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเกษตรที่มีความแม่นยำสูงแล้ว และคาดว่าจีนจะมีพื้นที่เกษตรอัจฉริยะ (Intelligent Farming) เพิ่มขึ้น 400,000 – 500,000 ตารางกิโลเมตรภายในอีก 3 – 5 ปีข้างหน้า”
.
นอกจากนี้ ภายในงาน นายเผิงฯ ยังได้เปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ที่สร้างเสียงฮือฮาและเรียกเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมงานได้อย่างกึกก้อง โดยเฉพาะ โดรนฉีดพ่นของเหลวและหว่านเมล็ดพืช รุ่น P40 และ รุ่น P80 โดยโดรนทั้งสองรุ่นสามารถจัดทำแผนที่การเกษตร ฉีดพ่นของเหลวหรือหว่านเมล็ด และส่งสัญญาณภาพ (broadcast) เข้าสู่โทรศัพท์มือถือขณะใช้งานได้ โดยเฉพาะเมื่อทำการบินในเขตภูเขา ทั้งนี้ โดรนรุ่น P40 สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ 150,00 ตารางเมตร/ชั่วโมง และโดรนรุ่น P80 ซึ่งเป็นโดรนขนาดใหญ่ที่สามารถฉีดพ่นของเหลวหรือหว่านเมล็ดได้กว้างถึง 10 เมตร
.
เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่ และสามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ 200,000 ตารางเมตร/ชั่วโมง รถหุ่นยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รุ่น R150 (Unmanned Ground Vehicle) รถหุ่นยนต์เพื่อการเกษตรที่จำหน่ายให้เกษตรกรในตลาดรายแรกของโลก โดยรถหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถฉีดพ่นของเหลว หว่านเมล็ดพืช และตัดหญ้า นอกจากนี้ นายเผิงฯ ยังได้เปิดตัว โดรนฉีดพ่นของเหลวและหว่านเมล็ดพืช รุ่น V ซึ่งเป็นโดรนประเภทสองใบพัด (dual-rotor) รุ่นแรกของบริษัทฯ มีความโดดเด่นในด้านการควบคุมพื้นที่การพ่นของเหลวได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้ โดรนรุ่นดังกล่าว สามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ 160,000 ตารางเมตร/ชั่วโมง
.
แรงงานกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร
.
แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างไรก็ดี ภาคการเกษตรของจีนเริ่มประสบปัญหาแรงงานในชนบทย้ายเข้าไปทำงานในเมืองมากขึ้นจนทำให้จำนวนแรงงานในภาคการเกษตรบางส่วนลดลง โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า เมื่อปี 2562 แรงงานในภาคเกษตรของจีนมีจำนวน 2.14 ล้านคน ลดลงกว่าร้อยละ 25.37 เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานในภาคการเกษตรของปี 2558 ซึ่งมีจำนวน 2.87 ล้านคน อย่างไรก็ดี การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานอาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะสามารถบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คณะรัฐมนตรีจีนได้ประกาศความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาด้านการเกษตรรูปแบบใหม่ 3 ประการ ได้แก่ (1) เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญด้านการเกษตร (2) สนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร และ (3) ส่งเสริมนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์ชีวภาพ เครื่องจักรทางการเกษตร เกษตรอัจฉริยะ และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
ต่อมาเมื่อเดือนกรกฏาคม 2563 กระทรวงเกษตรและชนบทของจีนได้จัดทำรายงานสถานะอุตสาหกรรมเกษตรแบบไร้มนุษย์ของจีน โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า การเกษตรแบบไร้มนุษย์และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้อมูลเพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรน้ำ ดิน ปุ๋ย และแรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรที่สำคัญของจีน และระบุด้วยว่า ปัจจุบันจีนมีพื้นที่เกษตรอัจฉริยะมากถึง 70,000 ตารางกิโลเมตรมากที่สุดในโลก
.
นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งยังได้ดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการเกษตรอัจฉริยะตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีจีน และดำเนินนโยบายสนับสนุนเกษตรกรให้ใช้โดรนเพื่อการเกษตรมาตั้งแต่ปี 2560 โดยมอบเงินสนับสนุนให้แก่เกษตรกรที่ซื้อโดรนสูงสุด 23,000 หยวน/เครื่อง เมื่อปี 2561 มอบเงินสนับสนุน 21,200 หยวน/เครื่อง
.
เมื่อปี 2562 มอบเงินสนับสนุน 15,000 หยวน/เครื่อง มูลค่ารวมทั้งหมดสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านหยวน และล่าสุดในปี 2563 มอบเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 30,000 หยวน/เครื่อง โดยมูลค่ารวมทั้งหมดสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านหยวน เป็นต้น
.
“การเกษตรอัจฉริยะ” อาจเป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนสำคัญของจีนที่มีสถานีปลายทางเป็นความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร โดยรถไฟขบวนดังกล่าวมีภาคเอกชนในมณฑลกวางตุ้ง โดยเฉพาะบริษัท XAG ทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ และมีรัฐบาลท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น หากนักธุรกิจหรือเกษตรกรไทยที่มีความสนใจต้องการจะพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น อาจต้องพิจารณาสำรองตั๋วล่วงหน้าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับการเกษตรของไทย ซึ่งจะทำให้ท่านไม่พลาดการเดินทางไปกับรถไฟความเร็วสูงขบวนนี้
.
ที่มา: https://thaibizchina.com/article/xag-drone-20201218/
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว