วลีที่ว่า “โลกเปลี่ยน เมื่อจีนขยับ” พอที่จะสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของจีนยุคใหม่ในเวทีโลก การแสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ของรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้ว ได้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการ Blockchain ทั่วโลกได้ไม่น้อย เนื่องจากบล็อกเชนในจีนเป็นกรณีศึกษาด้านการใช้ Blockchain ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
[su_spacer]
รัฐบาลจีนได้ชูความสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain การเร่งผลักดันการพัฒนาและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี Blockchain รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ด้วยการเชื่อมโยง Blockchain กับเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแบ่งปันข้อมูล การลดต้นทุนการดำเนินงาน การเพิ่มผลิตภาพทางธุรกิจ และการสร้างระบบที่น่าเชื่อถือ โดยสื่อยักษ์ใหญ่จากอังกฤษอย่าง Financial Times เคยระบุว่า จีนเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี Blockchain จำนวนมากที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain มากเพียงใด
[su_spacer]
เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ Blockchain เป็นเทคโนโลยีการเก็บและบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology – DLT) ฐานข้อมูลนี้เรียกว่า “บล็อก” (Block) และฐานข้อมูลเหล่านี้จะถูกแบ่งปัน (Share) ให้กับทุกคนในเครือข่ายเสมือน “ห่วงโซ่” (Chain) การทำธุรกรรมใดๆ ต่อฐานข้อมูล หรือ “บล็อก” จะต้องประกาศให้ทุกคนในเครือข่ายได้รับรู้ และเครือข่ายจะมีระบบตรวจสอบความถูกต้องก่อนตอบรับข้อมูลด้วยการสร้าง “บล็อก” ใหม่และนำไปต่อหลังบล็อกสุดท้าย ฐานข้อมูลนี้มีลักษณะเป็นห่วงโซ่ของบล็อกที่บันทึกธุรกรรมต่างๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า “บล็อกเชน” (Blockchain)
[su_spacer]
ทำไมเทคโนโลยี Blockchain จึงได้รับการจับตามองจากภาครัฐและภาคธุรกิจของจีนและทั่วโลก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 รัฐบาลจีนได้เปิดตัวเครือข่าย Blockchain ที่มีชื่อว่า Blockchain Service Network หรือ BSN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบ centralized ที่มีเพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ในลักษณะ one-stop-shop สำหรับบริษัท องค์กร และบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างแอปพลิเคชัน Blockchain และที่สำคัญ เพื่อนำไปใช้จัดเก็บฐานข้อมูลดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้แผนการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart cities) ของจีนอีกด้วย
[su_spacer]
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในศตวรรษใหม่เช่นเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยจุดเด่นของ Blockchain ที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสของระบบที่ตรวจสอบได้ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมาก
[su_spacer]
ความปลอดภัยของฐานข้อมูล การกระจายข้อมูลให้กับเครือข่ายในระบบทำให้ไม่เกิดปัญหาเรื่องระบบล่ม และทำให้การโจรกรรมหรือสร้างข้อมูลปลอมทำได้ยากกว่าการแฮกเครือข่าย Google Cloud หรือระบบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสียอีก เพราะแฮกเกอร์จะต้องแฮกคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลของเครือข่ายและต้องเชื่อมห่วงโซ่ทั้งหมดใหม่ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
[su_spacer]
สถาบันวิจัยชั้นนำอย่าง International Data Corporation (IDC) ชี้ว่า ในปี 2566 ร้อยละ 40 ของสถาบันการเงินจีนจะหันมาใช้เครือข่าย Blockchain ในการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศแทนระบบ SWIFT และระบบธนาคารตัวกลางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และในปีเดียวกัน บริษัทจีนจะลงทุนในบริการ Blockchain เป็นเงินมูลค่ากว่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับบริษัทให้คำปรึกษาชื่อดังอย่าง PWC ซึ่งนอกจากธุรกิจการเงินการธนาคารแล้ว เทคโนโลยี Blockchain จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน การแพทย์และการดูแลสุขภาพ ระบบบริหารงานภาครัฐ การค้าปลีก และที่ทุกคนกำลังจับตามองอย่าง “เงินดิจิทัล” (Bitcoin)
[su_spacer]
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในมณฑลแรกๆ ที่รัฐบาลกลางสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain โดยเมื่อปี 2562 รัฐบาลกลาง โดยสำนักงานกำกับดูแลการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange – SAFE) ได้อนุมัติให้มณฑลนี้เป็น “จุดทดลองแพลตฟอร์มการให้บริการ Blockchain ด้านการเงินข้ามแดน” (Cross–border Financial Blockchain Service Platform) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและการตรวจสอบเครดิตของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain กับการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Financing) ของจีน โดยมีธนาคารกลางและธนาคารท้องถิ่นหลายแห่งได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มดังกล่าว
[su_spacer]
เดิมที ภาคธุรกิจมักประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากความยุ่งยากซับซ้อนที่มาจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย การส่งต่อข้อมูลเอกสารที่เป็นกระดาษ ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบที่มักใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การเข้ามาของเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งใช้วิธีการเก็บข้อมูลอ้างอิงแบบ real time มีการตรวจสอบ และแชร์ข้อมูลให้บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย ฐานข้อมูลจะมีการอัปเดตเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องส่งต่อข้อมูลเอกสารที่เป็นกระดาษ
[su_spacer]
ธนาคารสามารถติดตามและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหรือประวัติเครดิตของลูกค้าได้ทันที โดยใช้เวลาตรวจเอกสารการค้าจากเดิม 1-3 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที ธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศทั้งกระบวนการใช้เวลาสั้นลงจากเดิม 1-2 วัน เหลือเพียง 15 นาที ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ ประหยัดต้นทุนเวลา ค่าใช้จ่าย และทรัพยากรบุคคลในการดำเนินการ การสั่งจ่ายเงินของธนาคารและการเข้าถึงเงินทุนของภาคุรกิจ (ผู้ขาย) ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบดั้งเดิม
[su_spacer]
ประเทศฝั่งเอเชียให้การยอมรับเทคโนโลยี Blockchain อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยจะมีการลงทุนรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เพื่อวางรากฐานให้การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ในกว่างซีเกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนให้กว่างซีก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในกว่างซีจึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง ของนครหนานหนิง
[su_spacer]
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน ร่วมกับสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นนำหลายแห่งของจีน จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบล็อกเชนจีน-อาเซียน” เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลัก Blockchain และการประยุกต์ใช้จริง รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการแบ่งปันและเชื่อมโยงทรัพยากรภายในเครือข่าย โดยห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาความร่วมมือและการเปิดสู่ภายนอกด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียน
[su_spacer]
ห้องปฏิบัติการดังกล่าวมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เข้ากับอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Internet) บนแพลตฟอร์มเปิดอย่าง Blockchain-as-a-Service (BaaS) แบบ Plug and Play ที่ให้ผู้ใช้บริการในจีนและอาเซียนสามารถสร้างและติดตั้งระบบ Blockchain ของตนเอง โดยโซลูชันนี้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์กับ Blockchain สาธารณะและส่วนบุคคล ซึ่งธุรกิจต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ อย่าง Blockchain กับการเงิน Blockchain กับข้อมูลการค้า Blockchain กับการชำระบัญชีระหว่างประเทศ และ Blockchain กับเครดิตของภาคธุรกิจ ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ขจัดอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การบริหารความเสี่ยง และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[su_spacer]
ในเดือนเดียวกัน นครหนานหนิงได้เปิดตัว “สวนนวัตกรรมเทคโนโลยีบล็อกเชนกว่างซี” ในเขตนิคมไฮเทคนครหนานหนิง เพื่อเป็นศูนย์รวมบริษัทด้าน Blockchain โดยเฉพาะ และรองรับการขยายตัวในอนาคต ภายในสวนนวัตกรรมแห่งนี้ได้จัดสรรพื้นที่อาคารชุดไว้สำหรับภาคธุรกิจให้เข้าไปจัดตั้งสำนักงาน พร้อมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่สำคัญ ยังมีสิทธิประโยชน์ “ลด แลก แจก แถม” ให้ภาคธุรกิจที่เข้าไปจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินรางวัลและเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ การลด/ยกเว้นภาษีเงินได้ การให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ การวางโครงสร้างผู้ถือหุ้น การบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยง การสร้างแบรนด์ธุรกิจ การฝึกอบรมทักษะความรู้ให้กับพนักงาน การวางแผนด้านภาษีอากร และการเข้าหาแหล่งเงินทุน
[su_spacer]
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลกว่างซีได้ร่วมกับ INSPUR บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของจีน จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนจีน-อาเซียน” ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Blockchain ให้สาธารณชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึง และนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง รวมถึงพัฒนาโซลูชันบริการต่างๆ เช่น การตรวจรับรองมาตรฐานสินค้า การวิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้า และการฝึกอบรมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
[su_spacer]
นอกจากนี้ บริษัท Digital Guangxi Group ได้จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบล็อกเชน 5G จีน-อาเซียน” และร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในสาขาต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในจีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เข้ากับเทคโนโลยี 5G บิ๊กดาต้า รัฐบาลดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และการอพยพในกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปสู่ธุรกิจในทุกภาคส่วน
[su_spacer]
บทสรุป
[su_spacer]
Blockchain ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอื่น อาทิปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจไทย จุดแข็งของเทคโนโลยีในเรื่องประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส่ อัปเดตได้ทันที (Real-time) และสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้อีก
[su_spacer]
ปัจจุบัน จีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตร Blockchain และมีบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน Blockchain มากที่สุดในโลก ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือและมีการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เชิงพาณิชย์ของจีน โดยเริ่มต้นจากนครหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งมีปัจจัยความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงนโยบายส่งเสริมการวิจัยและการลงทุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
[su_spacer]
ที่มา:
https://thaibizchina.com/article/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5-blockchain-%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%81/
[su_spacer]
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง