รู้หรือไม่…จีน เป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต หรือที่ภาษาปากเรียกว่า “ประชากรเน็ต” (Netizen) มากที่สุดในโลก ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขประชากรเน็ตจีนเพิ่มสูง นอกจากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่รวดเร็ว (เครือข่าย 5G และไฟเบอร์ออปติกสู่ชนบท) และสมาร์ทโฟนที่มีราคาถูกลงมากแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า..การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตต้องปรับเปลี่ยนจากออฟไลน์ไปเป็นออนไลน์มากขึ้น ทำให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
หลายปีมานี้ รัฐบาลจีนสนับสนุนการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล เป็นประเทศต้นแบบของ e-Commerce ของโลก พ่วงด้วยการก้าวขึ้นเป็นตลาด e-Commerce ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (แซงหน้าสหรัฐอเมริกา) และธุรกิจ e-Commerce ก็มีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ
ตัวเลขที่น่าสนใจจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ระบุว่า ในปี 2566 จีนมีประชากรเน็ต 1,092 ล้านคน หรือกว่า 1/5 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศถึง 15.8 เท่า และ Netizen เหล่านี้มีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึงร้อยละ 99.9 หรือกว่า 1,092 ล้านคน
ที่สำคัญ ประชากรเน็ตจีนสะท้อนแนวโน้มการก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” กล่าวคือ Netizen ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนร้อยละ 32.5 ของประชากรเน็ต (ปี 2565 มีสัดส่วนร้อยละ 30.8) ขณะที่ช่วงอายุ 20-29 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 13.7 / ช่วงอายุ 30 – 39 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 19.2 / ช่วงอายุ 40 – 49 ปี มีสัดส่วนร้อยละ 16.0 ของประชากรเน็ตจีน ซึ่งภาคธุรกิจไทยสามารถจำแนกและวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายให้ตรงกับสินค้าและบริการของตนได้
แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีน (ข้อมูลจาก Monthly active users ณ กุมภาพันธ์ 2567 ของ Statista) พบว่า แอปพลิเคชันประเภทโซเชียลมีเดีย แผนที่ออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ วิดีโอสั้นและไลฟ์สตรีมมิ่ง รวมถึงเครื่องมือค้นหา ได้รับความนิยมจากชาวจีน ได้แก่ Wechat / QQ / Douyin (Tiktok) / Alipay / Gaode Map / Taobao / Baidu Map / Baidu / Kuaishou / Pinduoduo
จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นพฤติกรรม “เสพติดสื่อ” ของชาวจีน โดยเฉพาะคอนเทนต์ประเภท “วิดีโอสั้น” ที่มีเนื้อหาความยาวน้อยกว่า 5 นาที นับเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่วิวัฒนาการขึ้นมาจากการโพสต์ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอแบบเก่า โดยมี Douyin (TikTok) และ Kuaishou เป็นแอปพลิคชันเจ้าตลาดในจีนด้วยจำนวนผู้ใช้งานทุกช่วงอายุมากถึง 1,053 ล้านคน และด้วยความนิยม “วิดีโอสั้น” และความคิดสร้างสรรค์ได้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ของภาคธุรกิจไทยในการใช้วิดีโอสั้นเป็น “เครื่องมือทางการตลาด” ที่ใช้ในการสื่อสาร และป้อนสินค้าและบริการให้เข้าถึง/ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เสพสื่อชาวจีนทั้งทางตรงและทางอ้อมได้
การใช้งานอินเทอร์เน็ตในจีนในสาขาต่าง ๆ มีความน่าสนใจ ดังนี้
แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจในจีนที่มุ่งเน้นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น เป็น “โอกาสทอง” สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัป หรือ SMEs ไทยที่สามารถก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการเติบโตของการค้าสินค้าและบริการในตลาดที่มีศักยภาพอย่าง “ตลาดจีน”
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง/ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์