ไฮไลท์
- แผนแม่บท “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” หรือ ILSTC ซึ่งระบุว่าจะพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป้ยปู้เป็น “ท่าเรือสากล”พร้อมบูรณาการร่วมกับท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์หยางผู่ของมณฑลไห่หนาน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการถึงปี 2578
- เส้นทาง ILSTC มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประสานแนวร่วมภาคีระดับภูมิภาคระหว่างจีนตะวันตกกับอาเซียน ผ่านโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) โดยมีเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญ
- กว่างซีกำลังเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของท่าเรือที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ โดยเฉพาะการสร้างท่าเทียบเรือและการขุดร่องน้ำเดินเรือเพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสินค้าผ่านเข้า-ออกท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
[su_spacer]
รัฐบาลกลางได้กำหนดให้ “ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นผู้เล่นสำคัญในแผนแม่บท “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” (New International Land-Sea Trade Corridor- ILSTC)
[su_spacer]
คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน หรือ NDRC (国家发改委) ได้ประกาศแผนแม่บท “เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก” ซึ่งระบุว่าจะพัฒนาให้ท่าเรือรอบอ่าวเป้ยปู้เป็น “ท่าเรือสากล” พร้อมบูรณาการร่วมกับท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์หยางผู่ของมณฑลไห่หนาน โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการถึงปี 2578
[su_spacer]
เส้นทาง ILSTC เป็นเส้นทางการค้าใหม่ทางภาคตะวันตกของจีนที่สามารถเชื่อมเส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (Maritime Silk Road of the 21st Century) และเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีเกียง (Yangtze River Economic Belt (YREB) เข้าไว้ด้วยกัน จึงมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประสานแนวร่วมภาคีระดับภูมิภาค (regional coordinated development)
[su_spacer]
แผนแม่บทดังกล่าวมุ่งพัฒนาเส้นทางออกสู่ทะเลที่อ่าวเป่ยปู้ของภูมิภาคตะวันตกใน 3 เส้นทางหลัก ได้แก่
(1) นครฉงชิ่ง-นครกุ้ยหยาง-นครหนานหนิง-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้
(2) นครฉงชิ่ง-เมืองหวายฮว่า(มณฑลหูหนาน)-เมืองหลิ่วโจว-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้
(3) นครเฉิงตู-เมืองหลูโจว(เมืองอี๋ปิน)-เมืองไป่เซ่อ-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้
[su_spacer]
โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน มีดังนี้
(1) ปี 2563 การบูรณาการเชิงทรัพยากรระหว่างท่าเรืออ่าวเป่ยปู้กับท่าเรือหยางผู่ของมณฑลไห่หนานเริ่มเป็นรูปธรรม การพัฒนาและเชื่อมระบบงานขนส่งร่วม “ราง+เรือ” และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแบบไร้รอยต่อที่สามารถใช้งานได้
(2) ปี 2568 ท่าเรือน้ำลึกอ่าวเป่ยปู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ท่าเรือสากลอ่าวเป่ยปู้และท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์หยางผู่ของมณฑลไห่หนานมีบทบาทความสำคัญที่ชัดเจน และพัฒนาประสานแนวร่วมภาคีกับท่าเรือจ้านเจียงของมณฑลกวางตุ้ง
(3) ปี 2578 เส้นทาง ILSTC เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แบบ
ทั้งสองมณฑลได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อยกระดับขีดความสามารถของท่าเรือที่ตั้งอยู่รอบอ่าวเป่ยปู้ (ท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง ท่าเรือเป๋ยไห่ของกว่างซี และท่าเรือหยางผู่ของมณฑลไห่หนาน) ในทางกายภาพ อาทิ
[su_spacer]
- ท่าเทียบเรือ ได้แก่
(1) ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Port ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งน้ำมันขนาด 3 แสนตัน และท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 2 แสนตันที่ท่าเรือชินโจว
(2) ท่าเทียบเรือฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของท่าเรือเที่ยซานของเมืองเป๋ยไห่
(3) การศึกษาความเป็นได้ไปในการสร้างท่าเรือขนาด 3 แสนตันที่ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และ
(4) การปรับปรุงท่าเทียบเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ของท่าเรือหยางผู่ของไห่หนาน
[su_spacer]
- ร่องน้ำเดินเรือ ได้แก่
(1) การขุดลอกร่องน้ำเดินเรือสำหรับเรือที่จะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือหยางผู่ของไห่หนาน
(2) การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาร่องน้ำเดินเรือขนาด 2 แสนตันและการขยายร่องน้ำเดินเรือฝั่งตะวันออกของท่าเรือชินโจว
(3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาร่องน้ำเดินเรือขนาด 3 แสนตันของท่าเรือฝางเฉิงก่าง
(4) เร่งก่อสร้างร่องน้ำเดินเรือขนาด 3 แสนตันสำหรับเรือที่จะเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือจ้านเจียง
(5) พัฒนาระบบงานขนส่งที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
[su_spacer]
ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เส้นทาง ILSTC ได้รับการจับตามองจากทุกวงการ โดยเป็นเส้นทางที่มีจุดเริ่มต้นจากนครฉงชิ่งไปยังประเทศสิงคโปร์ และมีท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ของกว่างซีเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ และมีการขยายผลไปสู่มณฑลทางภาคตะวันตกกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น จนรัฐบาลจีนได้ยกฐานะความสำคัญให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การเปิดสู่ภายนอกและเป็นกลไกเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนภาคตะวันตกกับอาเซียน ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง ILSTC ซึ่งมีโครงข่ายส่วนใหญ่ในจีนที่สมบูรณ์แล้วเพื่อขนส่งสินค้าไทยเจาะตลาดจีนเฉพาะตอนในได้เช่นกัน
[su_spacer]
(สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง)