ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์อย่างมาก โดยคณะกรรมการสาธารณสุขและสุขภาพจีน (National Health Commission : NHC) เผยว่า ณ สิ้นปี 2562 จีนมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คนอยู่ที่ 2.77 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3.4 คน ทั้งนี้ ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีนส่งผลให้การนัดหมายแพทย์เป็นเรื่องยาก ต้องรอคิวนาน และมีปัญหาแพทย์ปลอมหรือไม่ได้มาตรฐานด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาด Telemedicine ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยของจีน iiMedia Research พบว่า ในปี 2563 ตลาด Telemedicine ของจีนมีมูลค่ากว่า 5.45 หมื่นล้านหยวน เติบโตจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 1.58 พันล้านหยวนอย่างมีนัยสำคัญ และยังมีการคาดการณ์ว่า จะเติบโตแตะระดับกว่า 6 หมื่นล้านหยวนภายในสิ้นปี 2564 ในขณะเดียวกัน ในปี 2563 จำนวนผู้ใช้งาน Telemedicine ของจีนมีจำนวนกว่า 661 ล้านคน และคาดว่าจะมีจำนวน 687 ล้านคนภายในปี 2564
.
นอกจากนี้ จากการสำรวจ โดย Bain&Company พบว่า ในปี 2562 มีเพียงร้อยละ 24 ของกลุ่มตัวอย่างชาวจีนที่เคยใช้บริการการแพทย์ทางไกล อย่างไรก็ดี กว่าร้อยละ 64 คาดว่าจะใช้บริการนี้ภายใน 5 ปี ในขณะเดียวกัน ร้อยละ 97 มีความสนใจที่จะทดลองใช้บริการ Telemedicine ถ้าหากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรับบริการจากบริษัทประกันหรือที่ทำงานได้ โดยจากช้อมูล ณ เดือน เมษายน 2564 ของ NHC พบว่า ในปัจจุบัน จีนมีโรงพยาบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Hospital) กว่า 1,100 แห่ง และมีเครือข่ายความร่วมมือการแพทย์ทางไกลครอบคลุมระดับเมืองมากกว่า 24,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากอิทธิพลของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ความต้องการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานของผู้บริโภคชาวจีน การพัฒนาของเทคโนโลยี และที่สำคัญคือนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ Telemedicine ของจีนจึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจที่มีอนาคตที่สดใส และควรจับตามองอย่างใกล้ชิด
.
โดยหนึ่งในธุรกิจด้าน telemedicine ที่ประสบความสำเร็จในจีน คือ แอปพลิเคชัน Ping An Good Doctor (PAGD) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์รายใหญ่ในจีน มีจำนวนผู้ใช้งานรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 900 ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 – กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา และ ณ สิ้นปี 2563 มีจำนวนผู้ใช้บริการลงทะเบียนในระบบประมาณ 372.8 ล้านราย โดยเป็น Monthly Active Users (MAU) ประมาณ 72.6 ล้านราย และมีการใช้บริการเฉลี่ยวันละ 9 แสนครั้ง ในขณะเดียวกันผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาดนี้อย่าง Ding Xiang Yuan และ Chunyu Doctor ก็มีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน
.
ทั้งนี้ PAGD เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2558 และในปัจจุบันได้กลายเป็นแพลตฟอร์มให้บริการด้านสุขภาพแบบครบวงจรที่สำคัญของจีน และมีบริการสำหรับกลุ่มคนหลากหลายประเภททั้งสำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี ผู้ป่วย รวมถึงผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการรักษา โดยมีบริการด้านสุขภาพที่หลากหลาย เช่น บริการตรวจสุขภาพ บริการเสริมความงาม บริการ fitness ประกันสุขภาพ กายภาพบำบัด ร้านขายยา และโรงพยาบาล และมีการนำเทคโนโลยี AI และอินเทอร์เน็ตมาผนวกกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้บริการแบบระยะไกลแก่ผู้ใช้งานจากทั่วประเทศจีน
.
ในปัจจุบัน PAGD มีเครือข่ายผู้ให้บริการครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ในจีน โดย ณ สิ้นปี 2563 PAGD มีแพทย์และพยาบาลประจำ 2,247 คน เครือข่ายแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชั่วคราว 21,116 คน เครือข่ายคลินิก 49,000 แห่ง เครือข่ายร้านขายยา 110,000 แห่ง และเครือข่ายหน่วยตรวจร่างกาย 2,000 แห่ง เป็นต้น นอกจากนี้ PAGD ยังมีการขยายการให้ บริการไปยังต่างประเทศ เช่น ร่วมมือกับ Grab และ SoftBank ในประเทศอินโดนีเชีย และร่วมมือกับเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบ Telemedicine ที่เหมาะกับตลาดของประเทศนั้น ๆ โดยเฉพาะ
.
ในปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจ Healthcare เป็น mega trend ที่น่าจับตามอง และเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจ โดยสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้มีผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาระบบ Telemedicine เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น Doctor A to Z Doctor Anywhere และ Samitivej Virtual Hospital อย่างไรก็ดี ด้วยประเทศจีนกำลังมีความต้องการทางการแพทย์ทางไกลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังมีอัตราส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และยังมีปัญหาจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพของการบริการทางการแพทย์ จึงอาจเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการแพทย์ไทยที่จะศึกษาแนวทางการบุกตลาดจีนทางไกลผ่าน Telemedicine ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถติดตามอาการผู้ป่วย และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์แบบไร้พรมแดนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยการประชาสัมพันธ์บริการทางการแพทย์ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจนำไปสู่การเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับบริการทางการแพทย์และสุขภาพ และอาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์และธุรกิจบริการสุขภาพของโลก (Thailand Medical Hub) ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและมีความสนใจอาจคอยติดตามพัฒนาการของภาคธุรกิจ Telemedicine รวมถึงศึกษาความต้องการของผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวของภาคธุรกิจนี้ได้เช่นกัน