1.ภาพรวม
.
ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 เศรษฐกิจของมณฑลไห่หนานทั้งภาคอุตสาหกรรม การลงทุน และการบริโภคยังคงขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัวร้อยละ 14.9 สาขาที่ขยายตัวสูงที่สุด ได้แก่ ธุรกิจเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและสิ่งทอ รถยนต์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า การลงทุนในภาคการผลิตขยายตัวร้อยละ 139.4 โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเลียม การผลิตยา เคมีภัณฑ์ การแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหาร และเครื่องจักรและอุปกรณ์ การลงทุนจากต่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 798 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 527.54 และมีการจดทะเบียนบริษัทเพิ่ม 750 บริษัท โดยเป็นบริษัทจากฮ่องกง ไต้หวัน และแคนาดามากที่สุด และมากกว่าร้อยละ 90 เป็นการลงทุนในภาคบริการที่ทันสมัยและการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี ในช่วงเดือนกรกฎาคม – มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 4.68 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 226
.
2. พัฒนาการด้านแผนดำเนินงาน
.
รัฐบาลมณฑลไห่หนานได้ประกาศแผนปฏิบัติการปี 2564 – 2566 เพื่อส่งเสริมการลงทุนใน 5 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว ภาคบริการที่ทันสมัย เทคโนโลยีขั้นสูง เกษตรเขตร้อน และภาคการผลิต รวมทั้งขยายการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ได้แก่
.
2.1 ด้านคมนาคม เร่งขยายท่าอากาศยานนครไหโข่วระยะที่ 3 และท่าอากาศยานเมืองซานย่าแห่งใหม่ พัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมืองเศรษฐกิจสำคัญ
.
2.2 ด้าน IT ขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทั้งเกาะ พัฒนาศูนย์ Data Center และระบบเครือข่ายระหว่างประเทศ
.
2.3 ด้านการศึกษา ยกระดับคุณภาพโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยไห่หนาน และโรงเรียนอาชีวะที่เน้นด้านเทคโนโลยีให้เป็นสถานศึกษาชั้นนำภายในประเทศ
.
2.4 บริการด้านการแพทย์ เร่งก่อสร้างสถานพยาบาลในสาขาที่ไม่เพียงพอ และศูนย์ฟื้นฟูเวชศาสตร์ชั้นนำของมณฑล
.
ทั้งนี้ ภายในปี 2566 มณฑลไห่หนานมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงทุนใน 5 สาขาข้างต้น ร้อยละ 12 ต่อปี เพื่อให้สัดส่วนการลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 67 ของการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ทั้งหมดของมณฑล และเพิ่มการลงทุนในภาคสาธารณะร้อยละ 10ต่อปี เพื่อให้มณฑลไห่หนานมีบริการสาธารณะในระดับชั้นนำของจีน
.
มณฑลไห่หนานได้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงทั้งมณฑลให้ถึง 3,000 บริษัทและเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยร้อยละ 1.6 ภายในปี ค.ศ.2025 และเน้นดึงดูดบุคลากร เทคโนโลยี เงินทุน และหน่วยงานวิจัย ในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ปิโตรเคมีและวัสดุใหม่ ยาและเวชภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีทางทะเล เทคโนโลยีทางอวกาศ การประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ
.
นอกจากนี้ มณฑลไห่หนานยังได้ประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลในช่วงแผนฯ ฉบับที่ 14 โดยมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศอาเซียน ได้แก่ การพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสำราญ โดยจะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับประเทศอาเซียน การส่งเสริมให้บริษัทไห่หนานไปลงทุนด้านการแปรรูปสินค้าประมงในประเทศอาเซียน การขยายเส้นทางเดินเรือและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างท่าเรือ การพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรตามแนวคิด “เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21”
.
3.พัฒนาการด้านนโยบาย
.
สภาประชาชนจีน ได้ผ่านกฎหมายท่าเรือการค้าเสรีไห่หนานเพื่อสร้างหลักประกันให้กับการพัฒนาท่าเรือการค้าเสรี โดยกฎหมายดังกล่าว ย้ำว่าท่าเรือการค้าเสรีจะขยายการอำนวยความสะดวกทางเศรษฐกิจ และมุ่งเปิดเสรีการไหลเวียนของการค้า การลงทุน เงินทุน บุคลากรและข้อมูล ดังนี้
.
3.1 การค้า
รัฐบาลจีนจะสร้างและพัฒนาระบบศุลกากรพิเศษและด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยลดการแทรกแซงและเพิ่มประสิทธิภาพ และใช้กฎระเบียบการนำเข้า ในการควบคุมสินค้าจาก Hainan Free Trade Port: HFTP) ที่เข้าสู่จีนแผ่นดินใหญ่ขณะที่สินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้าสู่ HFTP ให้ใช้กฎระเบียบการควบคุมสินค้าภายในประเทศ
.
3.2 การลงทุน
รัฐบาลจีนพัฒนาระบบอนุมัติการลงทุนที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เน้นการแข่งขันที่เป็นธรรมโดยใช้หลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และระบบ Negative List
.
3.3 ระบบภาษี
การคลังและมณฑลไห่หนาน ร่วมกันจัดทำบัญชีสินค้าที่ต้องเก็บภาษีนำเข้า โดยสินค้าที่ไม่อยู่ในบัญชีดังกล่าวให้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าควบรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีการบริโภค (Consumption Tax) ภาษีการซื้อรถ (Vehicle Purchase Tax) และภาษีบำรุงรักษาและก่อสร้างเมือง (Urban maintenance and construction tax) ให้เหลือเพียงภาษีการจำหน่าย (Sales Tax) นอกจากนี้ ให้ดำเนินการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จดทะเบียนที่มณฑลไห่หนาน และลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง
.
3.4 การเงิน
รัฐบาลจีนมุ่งพัฒนาภาคการเงิน โดยใช้นโยบายที่เปิดกว้างและเน้นพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมธุรกรรม offshore ของสถาบันการเงิน พร้อมทั้งพัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และตรวจสอบการลงทุนของธุรกิจต่างชาติที่ส่งผลต่อความมั่นคงของจีน
.
3.5 ภาคธุรกิจและบุคลากรที่มีความสามารถสูง
รัฐบาลจีนเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ (1) การท่องเที่ยวเพื่อการเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยวที่ผสมผสานกับกีฬา การแพทย์ และการดูแลสุขภาพ (2) ภาคบริการที่ทันสมัย พัฒนาบริการและโครงสร้างพื้นฐานของระบบโลจิสติกส์ และเศรษฐกิจทางทะเล (3) เทคโนโลยีขั้นสูง สร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และระบบบริหารจัดการ Big Data และเศรษฐกิจดิจิทัล และจะปฏิรูประบบเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูง โดยเปิดกว้างและผ่อนคลายเรื่องการตรวจคนเข้าเมืองและการพำนักของคนต่างชาติ
.
โดยสรุป รัฐบาลกลางของจีนยังคงผลักดันนโยบาย HFTP อย่างต่อเนื่อง การที่รัฐบาลจีนออกกฎหมายสำหรับท่าเรือการค้าเสรีเป็นการเฉพาะสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อนโยบาย HFTP โดยเฉพาะการให้อำนาจรัฐบาลมณฑลไห่หนานในการปฏิรูปกฎระเบียบภายในให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายในทางปฏิบัติและการออกแบบระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะ ในขณะที่มณฑลไห่หนานก็เร่งออกมาตรการเพื่อพัฒนาภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) โดยเฉพาะด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจของมณฑลไห่หนานพึ่งพาภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 ภาคบริการมีสัดส่วนร้อยละ 60 ของ GDP ของมณฑลไห่หนาน ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 21 และร้อยละ 19 ตามลำดับ
.
ประเทศไทยได้มีการผลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve เช่นเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการเร่งพัฒนาและอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้แก่นักลงทุนจากต่างชาติ ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจการลงทุนในต่างประเทศ อาจศึกษาและพิจารณาเข้าไปลงทุนในมณฑลไห่หนาน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ทางรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เพื่อขยายตลาดการค้าและการลงทุนของตนเองต่อได้ในอนาคต
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว