ทุเรียน ราชาผลไม้ ที่นอกจากจะมีรสชาติอร่อยและมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังถือเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ทำเงินมหาศาลให้กับประเทศไทยอีกด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศจีนได้ประกาศถึงความสำเร็จในการทดลองปลูกทุเรียนสายพันธุ์มูซานคิง และพันธุ์หนามดํา ซึ่งเป็นที่นิยมในตลาดอย่างมาก จากปรากฎการณ์ดังกล่าวนี้ เรียกได้ว่าสร้างความหวาดหวั่นให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนชาวไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เกษตรกรมณฑลม้าวหมิง มณฑลกวางตุ้งประสบความสําเร็จในการปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดําที่นําต้นกล้ามาจากมาเลเซีย โดยเริ่มปลูกครั้งแรก เมื่อปี 2561 ซึ่งประสบผลสําเร็จครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 และคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนตุลาคม 2565
โดยพื้นที่ทดลองเพาะปลูกทุเรียนทั้งสองพันธุ์นั้น ตั้งอยู่ที่ตําบลกวนจู เมืองม้าวหมิง ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกของนายเติ้ง ยู่เฉียง (Deng Yuqiang) มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 300 หมู่ (ประมาณ 125 ไร่) โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกลิ้นจี่และไม้กฤษณา 200 หมู่ (ประมาณ 83.33 ไร่) และพื้นที่ทดลองปลูกทุเรียน 900 หมู่ (ประมาณ 41.66 ไร่) ปัจจุบัน มีต้นกล้าที่ติดตาต่อกิ่งแล้ว จํานวน 20,000 ต้น และคาดว่าจะติดตาต่อกิ่งเพิ่มเติมจนครบ 200,000 ต้นในอนาคต
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนเริ่มต้นการทดลองปลูกทุเรียน นายเติ้งฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรจีนตอนใต้ (South China Agricultural University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรชั้นนําของจีน ที่นครกว่างโจว รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากมาเลเซียมาให้คําปรึกษาและแนะนําเกี่ยวกับการทดลองเพาะปลูกทุเรียนด้วย นอกจากนี้ นายเติ้งฯ ยังได้เพิ่มเติมว่า พื้นที่ทดลองเพาะปลูกประกอบด้วยทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ แต่มีแผนที่จะพัฒนาสายพันธุ์มูซานคิงและหนามดําจากมาเลเซียเท่านั้น เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ทุเรียนที่มีมูลค่าในตลาดค่อนข้างสูง
ในช่วงที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นราชาผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ปัจจุบัน ไทยยังคงเป็นประเทศเดียวที่ได้รับอนุญาตนําเข้าทุเรียนสดเข้ามายังจีนได้ ซึ่งเมื่อปี 2564 จีนนําเข้าทุเรียนกว่า 421,500 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยในจํานวนดังกล่าว จีนนําเข้าทุเรียนจากไทยมากถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการนําเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐมูลค่าการนําเข้าทุเรียนอันมหาศาลนี้ ทําให้เกษตกรจีนเริ่มหันมาให้ความสนใจที่จะทดลองปลูกทุเรียนในจีน โดยเมื่อปี 2557 เกษตรกรจีนทดลองเพาะปลูกทุเรียนโดยใช้ต้นกล้าที่นําเข้ามาจากเวียดนามเป็นครั้งแรกที่มณฑลไห่หนาน ซึ่งเพาะปลูกเป็นผลสําเร็จเมื่อปี 2562
ดังนั้น การทดลองปลูกทุเรียนที่เมืองม้าวหมิงนับในครั้งนี้ นับเป็นความสําเร็จในการทดลองปลูกทุเรียนครั้งที่ 2 ของจีน ไทยในฐานะเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนที่สําคัญในภูมิภาค อาจต้องจับตามองความเคลื่อนไหวนี้ ซึ่งศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทย ในจีน ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวจะรายงานความคืบหน้าให้ผู้อ่านทราบต่อไป
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
- อ้างอิง:
- https://www.mm111.net/mmwb/2022-05/12/node_1.html https://www.163.com/dy/article/H6AGNME70534K1QC.html
- เขียนโดย สรศักดิ์ บุญรอด วท. ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
- เรียบเรียง ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์