มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของจีน โดยเฉพาะในด้านการขนส่งหลากหลายรูปแบบเชื่อมต่อข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมทางภาคเหนือของจีน เส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ําแยงซี เส้นทาง สายไหมทะเลศตวรรษที่ 21 และรถไฟจีนลาว รวมถึงเชื่อมต่อกับท่าเรือในอ่าวเป่ยปู้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงซึ่งมีเส้นทางขนส่งสินค้ามายังไทยและสิงคโปร์ และยังสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจงโอวซึ่งเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคยุโรป ดังนั้น ศักยภาพด้านความเชื่อมโยงของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งจึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยในการลดเวลาขนส่งสินค้าเข้าสู่ภาคตะวันตกของจีน โดยเฉพาะการนําระบบดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดขั้นตอนการดําเนินพิธีการทางศุลกากร รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคมนาคมขนส่งของจีนที่เชื่อมไปสู่ภูมิภาคอื่นภายใต้ BRI เช่น ยุโรป เอเชีย กลาง รัสเซีย เป็นต้น รวมถึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดึงดูดการลงทุนในไทยในอนาคต
อีกทั้ง มณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งต่างมีแนวทางการพัฒนาโดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของไทย ซึ่งมณฑลเสฉวนมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะการปรับปรุงพันธุ์พืชและการผลิตแบตเตอรี่สําหรับรถยนต์พลังงานใหม่ ในขณะที่นครฉงชิ่งมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่
โดยพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมของ ‘มณฑลเสฉวน’ และ ‘นครฉงชิ่ง’ สรุปได้ดังต่อไปนี้
ผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ ‘มณฑลเสฉวน’ ปี 2566 พบว่า (1) ด้านเศรษฐกิจ GDP มีมูลค่า 6.01 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยมีการจ้างงานใหม่จำนวน 850,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 5.5 รายได้สุทธิส่วนบุคคลของชาวเมือง 45,227 หยวน และรายได้สุทธิส่วนบุคคลของชาวชนบท 19,978 หยวน ในส่วนของการค้ากับต่างประเทศอยู่ที่ 957,490 ล้านหยวน มูลค่านำเข้า 354,100 ล้านหยวน/ส่งออก 603.390 ล้านหยวน โดยในจำนวนนั้นเป็นมูลค่าการค้ากับอาเซียน 179,660 ล้านหยวน (2) ด้านสังคม ถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดมหกรรมกีฬามหาวิทยาลัยโลก และมีการสร้างโรงเรียนอนุบาลเพิ่มอีกจำนวน 200 แห่ง สร้างศูนย์การแพทย์ระดับชาติเพิ่ม 4 แห่ง ตลอดจนปรับปรุงถนนในชนบทระยะทาง 19,000 กิโลเมตร อีกทั้ง ดัชนีจำนวนวันที่คุณภาพอากาศดียังสูงเป็นอันดับที่ 13 ของประเทศ (3) ด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกธัญพืช จึงส่งผลให้ผลผลิตธัญพืชมีจำนวน 36 พันล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบ 26 ปี และเพิ่มศักยภาพการผลิตก๊าซธรรมชาติเป็น 55.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร นับว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศจีน นอกจากนั้นยังเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็น 97.59 ล้านกิโลวัตต์ (4) ด้านเทคโนโลยี ได้รับอนุมัติให้สร้างห้องปฏิบัติการหลักระดับชาติเพิ่มอีก 2 แห่ง เริ่มต้นการดำเนินงานทดลองจินผิงดีพเอิร์ธ ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นห้องทดลองสสารมืดที่ลึกที่สุดในโลก และสร้างสถานีสัญญาณ 5G เพิ่มจำนวน 56,000 แห่ง
เป้าหมายและจุดเน้นของมณฑลเสฉวนในปี 2567
- ส่งเสริมการสร้างวงกลมเศรษฐกิจ (Circular Economy) เมืองคู่นครเฉิงตู-นครฉงซิ่ง โดยมีโครงการสำคัญร่วมกันไม่ต่ำกว่า 300 โครงการ
- สร้างพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาด้านนวัตกรรมในภูมิภาคตะวันตกเพื่อรองรับความเป็นอิสระต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงของประเทศ
- มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- สร้างวงจรที่ส่งเสริมกันระหว่างการบริโภคและการลงทุน โดยสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่ม 320 กิโลเมตร และสร้างทางหลวงเพิ่ม 500 กิโลเมตร
- ส่งเสริมการขยายตัวของเมืองใหม่และการฟื้นฟูชนบทอย่างครอบคลุม ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของเมืองและชนบท
- เพิ่มพลังขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยการบูรณาการเงินทุนและกระจายการพัฒนาสู่ชนบท
- ขยายการเปิดกว้างสูโลกภายนอก พัฒนาการเป็นประตูสู่ตะวันตกของจีน และการเป็นฐานที่มั่นใหม่สำหรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ
- ส่งเสริมการสร้างอารยธรรมทางนิเวศ การพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ
- พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
- สร้างภูมิทัศน์การรักษาความปลอดภัยอย่างสมดุลกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ ‘นครฉงชิ่ง’ ปี 2566 พบว่า (1) ด้านเศรษฐกิจ GDP มีมูลค่า 3,014,579 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 การจ้างงาน ใหม่จํานวน 739,000 ตําแหน่ง รายได้สุทธิส่วนบุคคลของชาวชนบท 20,820 หยวน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4) ในส่วนของการค้ากับต่างประเทศอยู่ที่ 213,740 ล้านหยวน นําเข้า 235,520 ล้านหยวน/ ส่งออก 478,220 ล้านหยวน โดยในจํานวนนั้นเป็นมูลค่าการค้ากับอาเซียน 103,860 ล้านหยวน มีเส้นทางขนส่งจีน-ยุโรปเชื่อมโยงกับเมืองในต่างประเทศรวม 110 แห่ง การขนส่งด้วยเส้นทาง ILSTC เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 วิสาหกิจต่างชาติลงทุนในนครฉงชิ่งเพิ่ม 782 แห่ง (2) ด้านสังคม สร้างสวนสาธารณะเพิ่ม 117 แห่ง เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองรวม 15 ล้าน ตร.ม. สร้างเส้นทางเดินบนภูเขาเพิ่ม 107 กม. เพิ่มที่ว่างสําหรับบ้านพักคนชราสําหรับคนชรา 4,080 คน สร้างโรงพยาบาลเพิ่ม 23 แห่ง ตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ประชาชนฟรี 1.9 แสนคน (3) ด้านความมั่นคงทางอาหาร มีผลผลิตธัญพืชสูงกว่า 10 ล้านตันต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 (4) ด้านเทคโนโลยี เพิ่มการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่เป็น 5 แสนคัน สร้างห้องปฏิบัติการระดับชาติใหม่เพิ่ม 10 แห่ง สร้างโรงงานอัจฉริยะเพิ่ม 17 แห่ง
เป้าหมายและจุดเน้นในปี 2567
- ส่งเสริมการสร้างวงกลมเศรษฐกิจ (Circular Economy) เมืองคู่นครเฉิงตู-นครฉงชิ่ง
- ส่งเสริมนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมผ่านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย
- รักษาเสถียรภาพการลงทุนและส่งเสริมการบริโภค กระตุ้นศักยภาพของอุปสงค์และความมีชีวิตชีวาอย่างเต็มที่
- เร่งความก้าวหน้าในการสร้างเมืองดิจิทัล และเป็นผู้นําการปฏิรูปและการพัฒนาเชิงลึกอย่างครอบคลุม
- สนับสนุนการดําเนินงานของเส้นทาง ILSTC และเพิ่มการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
- ส่งเสริมการขยายตัวของเมืองโดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
- ส่งเสริมการฟื้นฟูพื้นที่ชนบทอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ และเร่งการก่อสร้างพื้นที่ชนบทที่สวยงามในปาหยูและฉงชิ่ง
- บูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพสูงของแถบเศรษฐกิจแม่น้ําแยงซี
- เร่งสร้างเมืองวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งในยุคใหม่ และเสริมสร้าง soft power ของเมือง
- พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู / เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์