ภาคอุตสาหกรรม
.
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เผยว่า ช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 กำไรของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของจีนที่มีรายได้มากกว่า 20 ล้านหยวนต่อปี มีมูลค่ารวมกว่า 5.6 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 49.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และเติบโตร้อยละ 42.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของกำไรในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะยังคงเผชิญความท้าทาย เช่น การกลับมาระบาดใหม่ของเชื้อ COVID-19 ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาการขาดแคลนชิป
.
การค้าภาคบริการ
.
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 การค้าภาคบริการของจีนมีมูลค่าอยู่ที่ 3.27 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 แต่ยังลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19) โดย (1) การส่งออกภาคการบริการมีมูลค่าอยู่ที่ 1.55 ล้านล้านหยวน เติบโตร้อยละ 25.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และเติบโตร้อยละ 22.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่การนำเข้าภาคการบริการมีมูลค่าอยู่ที่ 1.72 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 1.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 และยังลดลงร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 (2) การค้าภาคการบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ลดลงร้อยละ 30.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 เนื่องจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19
.
การผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรม
.
ตัวเลขการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมถือเป็นมาตรวัดการดำเนินงานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีนสู่ความเป็นดิจิทัล เนื่องจากโรงงานต่าง ๆ เริ่มใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในกระบวนการผลิตหนาแน่นขึ้นจาก 75 เครื่อง/ 10,000 คนงาน ในปี 2562 เพิ่มเป็น 113 เครื่อง/ 10,000 คนงาน และการอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนสถิติแห่งชาติจีน เผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 การผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีน เติบโตร้อยละ 63.9 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจาก MIIT ของจีน ระบุว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2564 มียอดการผลิตและขายรถยนต์พลังงานใหม่เติบโตถึง 1.9 เท่า การผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) เติบโตร้อยละ 48.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ส่งผลให้การผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น ทั้งนี้ สหพันธ์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลของจีน (CMIF) คาดว่า อัตราการผลิตหุ่นยนต์ของปี 2564 จะเติบโตมากกว่าร้อยละ 30
.
ธุรกิจโลจิสติกส์
.
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 สมาพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อจีน (CFLP) เผยว่า เดือนกันยายน 2564 ดัชนีธุรกิจโลจิสติกส์ของจีนอยู่ที่ร้อยละ 54 ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.5 จุดจากเดือนสิงหาคม 2564 และนับเป็นระดับสูงสุดของปี 2564 ซึ่งได้รับแรงกระตุ้นจากอุปสงค์โลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวันไหว้พระจันทร์และช่วงใกล้วันหยุดวันชาติจีน
.
ธุรกิจรังนก
.
ข้อมูลจากสำหนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ชี้ว่า ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่บริโภครังนกมากที่สุดของโลก และรังนกได้เปลี่ยนจากสินค้าระดับชั้นสูงเป็นสินค้าทั่วไปในจีน รวมทั้งผลิตภัณฑ์รังนกมีหลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน มีบริษัททั้งหมด 66 แห่งจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกมายังจีน นอกจากนี้ GACC กำลังผลักดันการเปิดตลาดผลิตภัณฑ์รังนกจากเวียดนาม และกัมพูชาเข้ามาในจีน รวมทั้งจดทะเบียนบริษัทใหม่จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ ในปี 2563 มูลค่าตลาดรังนกของจีนอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากปี 2562 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ตลาดรังนกของจีนยังคงต้องการการสร้างมาตรฐานของธุรกิจรังนก รวมทั้งการสร้างห่วงโซอุปทาน (supply chain) ที่มีคุณภาพสูงอยู่
.
ปัจจุบันนี้ จีนกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย และเริ่มกลับมานำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศมากขึ้น หลังสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ที่น้อยลง โดยกลุ่มสินค้าไทยมีแนวโน้มการส่งออกที่ดี เช่น สินค้าการเกษตรทั้งประเภทสด และแช่แข็ง แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ นอกจากนี้ นโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSMEs และสนับสนุน R&D ของรัฐบาลจีนยังเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรติดตามกฎระเบียบจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และพัฒนาระบบการเข้าถึงที่ง่าย และหลากหลายแก่ผู้ประกอบการชาวจีน อีกทั้งยังควรติดตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะในสินค้ากลุ่มพลังงานสะอาด ซึ่งอาจส่งผลต่อการส่งออกของไทยในอนาคตด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง