ผลิตภัณฑ์ความงามในจีนได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2562 Morgan Stanley คาดการณ์การเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์ความงามในจีนว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามจีนจะขยายส่วนแบ่งการตลาดมากถึงร้อยละ 66 ของตลาดทั่วโลก ซึ่งผู้บริโภคโดยเฉพาะคนกลุ่ม Gen Z ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญเนื่องจากจับจ่ายผลิตภัณฑ์ความงามมากขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีอายุมากกว่าโดยคน Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ รวมทั้งได้รับความกดดันจากการใช้ชีวิตและการทำงาน ทำให้คนกลุ่มนี้หันมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์การใช้สินค้าเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ความงามต่างออกไป เช่น นิยมเพิ่มขั้นตอนการบำรุงผิว และเห็นว่าการแต่งหน้ามีความสำคัญต่อการเข้าสังคม เป็นต้น ดังนั้น ผู้บริโภค Gen Z ส่วนมากจึงนิยมใช้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามใหม่ๆ ที่มีความพิเศษ ทดลองใช้สินค้าในร้าน และนิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ความงามที่มีกลิ่นหอม ทำให้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีกลิ่นหอมมีแนวโน้มพัฒนาสู่การเป็นสินค้าไฮเอนด์ในอนาคต
.
นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการในจีนจึงให้ความสำคัญกับการเป็นไวรัลในโลกโซเชียลและการบอกเล่าแบบปากต่อปากของลูกค้า และการทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียโดยใช้ KOL หรือ KOC เนื่องจากการโฆษณาโดยใช้เพียงพรีเซนเตอร์และสโลแกนของแบรนด์ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่ได้มากนัก
.
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครกว่างโจว สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน China International Beauty Expo (CIBE) ที่นครกว่างโจว เป็นงานจัดแสดงผลิตภัณฑ์และการให้บริการด้านความงาม ซึ่งในปีนี้ จัดขึ้นภายในธีม “อินเทอร์เน็ต + วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี + ความยั่งยืน” โดยผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ความงามและแนวทางการตลาดที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจากผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพผิวมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูสภาพผิวและป้องกันการระคายเคืองกลายเป็นที่นิยม โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 60 ของผู้บริโภคประสบปัญหาเรื่องผิวจากการสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้คอนเซปต์ Clean Beauty ที่ปราศจากส่วนผสมที่เป็นสารเคมี และมีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผู้บริโภคจีนถึงร้อยละ 91 เห็นว่าผู้ประกอบการควรสร้างพลังบวก (positive energy) ให้แก่สังคม ทั้งนี้ การไลฟ์โดยใช้เน็ตไอดอลเพื่อสร้าง brand awareness ซึ่งมีมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของการแพร่ระบาด COVID-19 ยังคงเป็นที่นิยมและมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง
.
ในขณะเดียวกัน สถาบันให้บริการด้านความงามก็ได้เริ่มหันมาเน้นบริการที่เกี่ยวกับการจัดการสุขภาพ (health management) มากขึ้น และเน้นเทคโนโลยีในการให้บริการ เนื่องจากอุตสาหกรรมการให้บริการความงามมีการแข่งขันสูงและผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้บริการของสถาบันความงามอื่นได้อย่างรวดเร็วขึ้นอยู่กับความทันสมัยของผลิตภัณฑ์และคุณภาพของการให้บริการ ในขณะที่บริการด้านการจัดการสุขภาพเน้นประสิทธิผลจากการให้บริการและการเชื่อมโยงทางความรู้สึก (emotional connection) กับผู้ใช้บริการ จึงทำให้ผู้ใช้บริการที่เข้ามาเป็นสมาชิกไม่เปลี่ยนไปใช้บริการของสถาบันความงามอื่น
.
นอกจากนี้ คนจีนรุ่นใหม่ให้ความสนใจผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ให้บริการโดยใช้อุปกรณ์ที่ประยุกต์ใช้ AI และ big data มากขึ้น เช่น เครื่องเพิ่มอุณหภูมิร่างกายเพื่อกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือด ซึ่งอุณหภูมิของเครื่องปรับตามอุณหภูมิร่างกายของลูกค้าที่มาใช้บริการ และอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบปัญหาผิวและออกแบบแนวทางฟื้นฟูและรักษาความอ่อนเยาว์ของผิวตามสภาพผิวของลูกค้าที่มาใช้บริการ เป็นต้น
.
การปรับตัวคือกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการทำธุรกิจในจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมความงามอาจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ผลิตภัณฑ์และการให้บริการด้านความงามใหม่ ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคจีน รวมทั้งพิจารณาการวางแผนการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม หากประสงค์จะขยายธุรกิจมาจีน
.
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://new.qq.com/omn/20210310/20210310A0EMBD00.html
https://www.163.com/dy/article/G4P7GDJS0511E1FT.html
http://gz.chinainternationalbeauty.com/gz/index.html
https://www.sohu.com/a/453733912_436576
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
.
ที่มา: https://thaibizchina.com/article/beauty_industry_20210402/