ปัจจุบัน ภูมิทัศน์ทางการเงินกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมากขึ้น สะท้อนได้จากที่ธนาคารกลางทั่วโลกเร่งขยายกิจกรรมด้านสกุลเงินดิจิทัล โดยได้จัดทำแผนศึกษา ทดลอง และพัฒนานวัตกรรมการเงิน อย่างเช่น ‘จีน’ ได้เริ่มผลักดันใช้ ‘ดิจิทัลหยวน’ (Digital Yuan) ทั้งในระดับธุรกรรมระหว่างธนาคาร (Wholesale) และสำหรับธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป (Retail)
สำหรับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ในฐานะผู้ดำเนินยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN ของจีนในทุกมิติ รวมถึงการเป็น Financial Gateway to ASEAN โดยล่าสุด ธนาคาร Bank of China สาขาหนานหนิง ประสบความสำเร็จในการช่วยบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศด้วยดิจิทัลหยวนภายใต้โครงการ mBridge ที่ใช้ ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศทำได้แบบ “โอนปุ๊บ ถึงปั๊บ”
‘mBridge’ เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินและการแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศมีความโปร่งใส ทำได้ง่าย รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
โดยความเป็นมาของ mBridge เป็นโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency – CBDC) ริเริ่มโดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority – HKMA) ภายใต้ชื่อโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 เป็นระบบต้นแบบ Wholesale CBDC สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศในลักษณะหลายสกุลเงิน (multi-currency) ภายในกลุ่มธนาคารกลางที่เข้าร่วม
หลังจากที่ผลการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปด้วยดี จึงมีการพัฒนาต่อยอดโครงการในระยะที่ 3 โดยได้ขยายความร่วมมือกับธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Central Bank of the United Arab Emirates – CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Digital Currency Institute of the People’s Bank of China: PBC DCI) โดยพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการใหม่ ภายใต้ชื่อ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project หรือ mBridge โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements Innovation Hub – BISIH) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในระบบปัจจุบัน การพัฒนาระบบต้นแบบดังกล่าว ช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักวินาที (จากเดิมที่ต้องใช้เวลา 3 – 5 วัน) รวมถึงช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศได้กว่าครึ่งหนึ่ง ลดความเสี่ยงด้านการชำระดุล และเอื้อประโยชน์ต่อการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง
ปัจจุบัน นครหนานหนิงมีสถาบันการเงินประเภทธนาคารที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลหยวน จำนวน 12 ราย ได้แก่ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC), Agricultural Bank of China (ABC), Bank of China (BOC), China Construction Bank (CCB), Bank of Communication (BOCOM), Postal Savings Bank of China (PSBC), Industrial Bank, China Merchants Bank, Guangxi Beibu Gulf Bank, Guangxi Rural Commercial United Bank, Guilin Bank และ Bank of Liuzhou
สำนักงานการเงินนครหนานหนิง (Nanning Financial Affairs Office) เปิดเผยว่า ระยะต่อไป นครหนานหนิงจะพัฒนาโครงการนำร่องหยวนดิจิทัลในเชิงลึก พัฒนานวัตกรรมของดิจิทัลหยวนในธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ แสดงข้อได้เปรียบของ mBridge ยกระดับศักยภาพการให้บริการด้านการชำระเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการชำระบัญชีระหว่างประเทศ การระดมทุนระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการเงินทุนระหว่างประเทศ


ทั้งนี้ ศูนย์ BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พัฒนาและทดลองเชื่อมต่อการใช้งานโอนเงินแบบหลายสกุลเงิน (multiple currency CBDC) ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 PwC Global CBDC Index จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนา retail CBDC อันดับที่ 3 ของโลก และ wholesale CBDC อันดับที่ 1 ของโลก
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เริ่มการทดสอบการใช้งาน retail CBDC ภายใต้โครงการบางขุนพรหม และโครงการ mBridge สำหรับการทำธุรกรรมการโอนเงินของประชาชน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ ไปสู่การทดสอบใช้งานจริงในขอบเขตจำกัด เพื่อประเมินศักยภาพการพัฒนาและใช้งาน CBDC ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านธุรกิจ และการนำไปต่อยอดเชิงนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน
แม้ว่าจะยังไม่มีแผนการออกใช้งาน retail CBDC ในวงกว้าง แต่เป็นประเด็นที่น่าติดตามสำหรับภาคธุรกิจ เพราะถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนา CBDC ในการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จะช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในอนาคต และจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับต่างประเทศด้วย
จัดทำโดย: นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งข้อมูล: (1) หนังสือพิมพ์ Guangxi Daily (广西日报) วันที่ 11 กรกฎาคม 2567
(2) เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 11 กรกฎาคม 2567
(3) เว็บไซต์ www.bot.or.th
(4) เว็บไซต์ www.pwc.com
เครดิตภาพ: https://curiously.me และ www.centralbanking.com
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์