เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศนครเฉิงตูประกาศ “รายงานการส่งเสริมรถยนต์พลังงานใหม่ปี 2564” ว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 นครเฉิงตูมีจำนวนรถยนต์พลังงานใหม่ทั้งหมด 266,000 คัน มากเป็นอันดับที่ 7 ในจีนและอันดับ 1 ในภูมิภาคจีนตะวันตก
.
ทุกเมืองในประเทศจีนต่างก็กำลังเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับนครเฉิงตูซึ่งมีบริษัทรถยนต์จีนและต่างประเทศที่มีชื่อเสียง 33 แห่ง อาทิ FAW-Volkswagen, FAW Toyota, FAW Jiefang, Dongfeng Shenlong (Citroen, Peugeot), Geely, Volvo ฯลฯ โดยเมื่อสิ้นปี 2564 นครเฉิงตูมีแท่นชาร์จทั้งหมด 61,000 แท่น (อัตราส่วนรถต่อแท่นชาร์จ 3.9 : 1) และมีสถานีชาร์จ-เปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้า 1,413 แห่ง นอกจากนี้ นครเฉิงตูดำเนินการอย่างจริงจังในการเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ ภายใต้ “แผนส่งเสริมยานยนต์พลังงานใหม่ของนครเฉิงตู (2565 – 2568)” โดยอาศัยนโยบายสนันสนุนจากรัฐบาล และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน คาดว่าภายในสิ้นปี 2568 นครเฉิงตูจะมีรถยนต์พลังงานใหม่ทั้งหมด 600,000 – 800,000 คัน
.
ตั้งเเต่ปี 2558 จีนตั้งเป้าเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “Made in China” โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและการใช้งานรถยนต์พลังงานใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งส่งผลให้ตลาดรถยนต์พลังงานใหม่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ละเมืองของจีนต่างมีนโยบายเพิ่มแรงจูงใจ ส่งเสริมการผลิต และเพิ่มอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ซึ่งส่งผลให้รถยนต์พลังงานใหม่มีแนมโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา นครเฉิงตูได้พัฒนารถยนต์พลังงานใหม่อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นผู้นำในภาคตะวันตกของจีน
.
รถยนต์พลังงานใหม่สอดคล้องกับ “BCG Model” ของไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายให้ไทยผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/ รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศเห็นได้ว่า นโยบายการส่งเสริมรถยนต์พลังงานใหม่และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของไทยและจีนกำลังเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกัน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและการการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนต่อไป
.
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์