เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักงานกำกับตลาดมณฑลหูหนานเปิดเผยข้อมูลว่า คณะกรรมการด้านเทคนิคในการจัดทำมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ของสินค้ามณฑลหูหนานกำหนดนโยบายส่งเสริมสินค้า GI เพื่อกระตุ้นการพลิกฟื้นชนบท (Rural Revitalization) ตามนโยบายของรัฐบาลจีน โดย GI เป็นตราสัญลักษณ์ระบุภูมิศาสตร์แหล่งกำเนิดของสินค้าและยังเป็นวิธีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญวิธีหนึ่งด้วย
.
ทั้งนี้ คณะกรรมการข้างต้นได้ร่วมมือกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นของมณฑลหูหนานที่ดำเนินงานเกี่ยวกับมาตรฐานในอุตสาหกรรมการเกษตรและการลดความยากจน ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมชั้นนำในมณฑลหูหนานเข้าร่วมโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งผลิตภัณฑ์โดดเด่น” เพื่อเร่งการปรับปรุงมาตรฐาน GI ของมณฑล รวมถึงกระตุ้นการสร้างมาตรฐานเพื่อคุ้มครองสินค้า GI ในมณฑล รวมทั้งได้จัดทำโครงการนำร่องเกี่ยวกับการสร้างมาตรฐานและสนับสนุนวิสาหกิจด้านการเกษตรชั้นนำ เพื่อส่งเสริมคุณภาพและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมโดดเด่นของมณฑล ตลอดจนสร้างความทันสมัยแก่ภาคการเกษตร
.
นับจนถึงขณะนี้ มณฑลหูหนานได้อนุมัติคำขออนุญาตของบริษัทมากกว่า 1,200 รายในการใช้ GI ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิสาหกิจต้นน้ำและปลายน้ำในมณฑลกว่า 5,000 ราย โดยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (ปี 2559-2563) บริษัทเหล่านี้ได้สร้างงานให้แก่ประชาชนที่ยากจนในมณฑลกว่า 220,000 ตำแหน่ง รวมถึงช่วยให้ประชาชนกว่า 1,390,000 คนหลุดพ้นจากความยากจน
.
อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 จีนกับสหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ประกาศบังคับใช้ความตกลงด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ระหว่างกัน และมีการประกาศบัญชีรายชื่อสินค้า GI ของทั้งสองฝ่ายที่ได้รับการคุ้มครองรวม 275 ชนิด ซึ่งมีสินค้า GI จากมณฑลหูหนาน 7 ชนิดรวมอยู่ด้วย ได้แก่ ชาอำเภออันหัวในเมืองอี้หยาง ดอกไม้ไฟเมืองหลิวหยางในนครฉางซา เครื่องเคลือบของอำเภอหลี่หลิงในเมืองจูโจว สุราตราจิ่วกุ่ยของอำเภอจี๋โส่วในเขตฯ เซียงซี ชาเขียวเหมาเจียนของอำเภอกู่จ้างในเขตฯ เซียงซี ซอสพริกหย่งเฟิงของอำเภอซวงเฟิงในเมืองโหลตี่ และชาหวงจินของอำเภอเป่าจิ้งในเขตฯ เซียงซี ทั้งนี้ สำนักงานกำกับตลาดมณฑลหูหนานเปิดเผยว่า มณฑลหูหนานวางเป้าหมายจะสร้างความเข้มแข็งในการบ่มเพาะอุตสาหกรรมที่โดดเด่นของมณฑล พร้อมส่งเสริมสินค้าของมณฑลไปสู่ระดับโลก รวมถึงพัฒนาสินค้าเกษตรผ่านเครื่องมือ ได้แก่ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และโดยเฉพาะ GI ซึ่งมณฑลจะเพิ่มสินค้า GI อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการพลิกฟื้นชนบทและการสร้างแบรนด์สินค้าหูหนานไปสู่ระดับโลก
.
สำหรับประเทศไทยนั้นมีนโยบายในการส่งเสริมสินค้า GI เช่นเดียวกัน เช่น ทุเรียนป่าละอู ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ทำให้ชื่อสินค้าได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิ์เฉพาะของชุมชนนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และได้รับการสนับสนุนการจดทะเบียนในระดับต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งทางผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกสินค้า GI ควรศึกษาความโดดเด่น คุณลักษณะพิเศษของสินค้าเพื่อประโยชน์ในการทำการตลาด และหาช่องทางเพิ่มมูลค่าสินค้า เช่น ทำบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ให้ความรู้ผู้บริโภค โดยระบุจุดเด่น และความแตกต่างของสินค้าจากผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันจากท้องถิ่นอื่น
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง