ชี้แนวทางให้ไทยเร่งปรับตัวในธุรกิจผลไม้สด
“ลิ้นจี่” เป็นหนี่งในผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน แหล่งปลูกหลักอยู่ในพื้นที่จีนตอนใต้ โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีผลผลิตรวมกันมากกว่าร้อยละ 85 ของทั้งประเทศจีน ส่วนที่เหลือปลูกในมณฑลไห่หนาน (เกาะไหหลำ) มณฑลฝูเจี้ยน มณฑลยูนนาน และมณฑลเสฉวน จากการบันทึกพบว่า เขตฯ กว่างซีมีการปลูกลิ้นจี่ตั้งแต่เมื่อ 2,100 ปีก่อน ผลผลิตลิ้นจี่ในกว่างซีจะเริ่มออกสู่ตลาดราว ๆ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม ใกล้เคียงกับผลผลิตลิ้นจี่ของเวียดนามที่จะออกสู่ตลาดราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ขณะที่ลิ้นจี่ไทยออกสู่ตลาดเร็วกว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี
ปี 2566 กว่างซีมีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน (รองจากมณฑลกวางตุ้ง) คิดเป็นพื้นที่ปลูกรวมราว ๆ 979,207 ล้านไร่ มีผลผลิตลิ้นจี่ 960,000 ตัน มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศจีนเช่นกัน ลิ้นจี่ที่ปลูกในกว่างซีมีมากกว่า 60 สายพันธุ์ แหล่งปลูกลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงของกว่างซีอยู่ที่ “อำเภอหลิงซาน” เมืองชินโจว ได้รับการขนานนามเป็น “บ้านเกิดของลิ้นจี่จีน” มีต้นลิ้นจี่อายุมากกว่าร้อยปีมากถึง 300 กว่าต้น มีพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตลิ้นจี่สูงที่สุดในกว่างซี
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่อ่อนไหวกับเวลาและไม่สามารถบ่มสุกได้ (Non-climacteric fruit) ยิ่งสดมากรสชาติที่แท้จริงยิ่งเด่นชัด รสชาติดีที่สุดของลิ้นจี่มีอายุสั้นเพียง 3 – 5 วัน เมื่อเวลาผ่านไปความสดและรสชาติที่เคยมีจะค่อยๆ จืดจางลง โดย “ระยะเวลาในการขนส่ง” เป็นตัวพรากความสดใหม่ของลิ้นจี่ เพื่อ ‘ล็อก’ ความสด และยืดอายุของลิ้นจี่หลังการเก็บเกี่ยว เมืองหลิงซานได้นำเทคนิคการถนอมความสดของลิ้นจี่แบบผสมผสานตามหลัก “ชีววิทยา + ฟิสิกส์” ช่วยให้ลิ้นจี่ยืดอายุความสดได้ยาวนานถึง 60 วัน ช่วยเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายได้มากยิ่งขึ้น
วิธีการดังกล่าวเป็นการนำลิ้นจี่ไปแช่ในน้ำที่มีการเติม “สารชีวภาพเพื่อรักษาความสดใหม่” เคลือบผิวลิ้นจี่เพื่อยับยั้งหรือชะลอกระบวนการรวมตัวกับออกซิเจน ทำให้เปลือกลิ้นจี่มีสีสวย (ไม่ดำ) คงความสดใหม่ และรสชาติไม่เปลี่ยน สารชีวภาพดังกล่าวยังมีสารระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriostatic Agent) รวมถึงสาร Tea Polyphenols และกรดแอสคอร์บิค (Ascorbic Acid) หรือวิตามิน ซี ซึ่งล้วนแต่เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างการมนุษย์ จึงตัดประเด็นความไม่ปลอดภัยของอาหารไปได้
วิธีการ ‘ล็อก’ ความสดของลิ้นจี้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเกษตรและชนบทของอำเภอหลิงซานกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตรของมณฑลอันฮุย โดยทีมวิจัยใช้เวลาติดตามผลนานกว่า 3 ปี และได้เริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้อย่างแพร่หลายในปีนี้ อนึ่ง ผลวิจัยดังกล่าวได้แจ้งจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ เกษตรกรต้องใส่ใจกับกระบวนการเก็บเกี่ยวจนถึงขนส่งเพื่อการรักษาความสดใหม่ของลิ้นจี่ด้วยการเก็บเกี่ยวผลลิ้นจี่ควรเลือกช่วงเวลาเช้าที่น้ำค้างแห้งแล้ว และยังไม่แดดจัดเก็บผลลิ้นจี่ที่ระดับความสุกร้อยละ 80 – 85 (ไม่ควรสุกจัด) ขนมาพักรวมกันในที่ร่มเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาความสดและคัดบรรจุก่อนส่งจำหน่ายต่อไป โดยลิ้นจี่ควรเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิ 3 – 5 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การปลูก “ลิ้นจี่”ในประเทศจีนกำลังชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกมีแนวโน้มลดลงทุกปี จาก 3.58 ล้านไร่ในปี 2560 เหลือ 3.38 ล้านไร่ในปี 2566 ที่ผ่านมา และยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ยังคงลดลงเหลือ 3.27 ล้านไร่ จากสถานการณ์การติดดอก คาดการณ์ว่า ปีนี้ผลผลิตลิ้นจี่โดยรวมจะลดถึงร้อยละ 45.94 (YoY) เหลือเพียง 1.78 ล้านตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศอุ่นในฤดูหนาว (Warm Winter) และปริมาณน้ำฝนมากที่ตกในฤดูใบไม้ผลิ
การนำเข้า “ลิ้นจี่” จึงเป็นทางเลือกเพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในจีน ปัจจุบัน รัฐบาลจีนอนุญาตการนำเข้าลิ้นจี่จาก 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และเมียนมา โดยช่วง High Season ของการนำเข้าลิ้นจี่อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ที่ผ่านมา พบว่า ‘ลิ้นจี่ญวน’ ครองส่วนแบ่งในตลาดจีนมากที่สุดมาโดยตลอด ปัจจัยหลักมาจากการมีเวียดนามมีพรมแดนติดกับจีน กอปรกับการที่ ‘ลิ้นจี่’ เป็นผลไม้ที่บอบบางที่ต้องแข่งกับเวลา ทำให้เวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่ง
สำหรับโอกาสของ ‘ลิ้นจี่ไทย’ ฤดูกาลที่ผลผลิตออกสู่ตลาดที่เหลื่อมกัน เป็น ‘โอกาส’ ที่เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ รวมถึงผลไม้ไทยชนิดอื่น ๆ สามารถวางแผนเพื่อทำตลาดจีนได้ เพราะผู้บริโภคชาวจีนเชื่อมั่นในรสชาติและคุณภาพของผลไม้ไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่เกษตรกรชาวสวนต้องรักษาคุณภาพการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) โดยเฉพาะเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมการบรรจุหีบห่อและการขนส่งเพื่อการส่งออกไปตลาดจีนอย่างเทคโนโลยีการเกษตรในการ ‘ล็อกความสด’ ของลิ้นจี่ที่ได้เล่าไปข้างต้น เป็น ‘โอกาสและความหวังใหม่’ ที่หน่วยงานภาครัฐ/เอกชนไทยสามารถแสวงหาช่องทางในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ดังกล่าว ซึ่งจะช่วยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่ง ติดปีกให้กับ ‘ลิ้นจี่ไทย’ และเป็นการตอกย้ำด้านภาพลักษณ์และค่านิยมของผลไม้ไทยที่มีคุณภาพและความสดใหม่ในสายตาของผู้บริโภคชาวจีน
* * * * * * * *
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ที่มา: https://thaibizchina.com/energy-technology-environment/bicnng2024-06-26/