การประชุมสุดยอดส่งเสริมความเป็นดิจิทัลของจีน ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่นครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยนระหว่างวันที่ 12 – 14 ตุลาคม 2563 ตามกลยุทธ์แผนการพัฒนา “ฝูเจี้ยนดิจิทัล” สู่ความเป็นดิจิทัลของจีนโดยมีนครฝูโจวเป็นเมืองนำร่อง โดยแผนพัฒนาดังกล่าวเสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนเมื่อปี 2543
.
ภายในงานฯ เกิดมูลค่าการตกลงความร่วมมือตามสัญญากว่า 4.18 หมื่นล้านหยวน ครอบคลุมสาขา 5G AI Big Data Cloud Computing IoT โดยในปี 2562 นครฝูโจวมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลกว่า 3.9 แสนล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของมูลค่า GDP ทั้งเมือง และเป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
.
ปัจจุบัน มณฑลฝูเจี้ยนได้รับการจัดตั้งเป็น “มณฑลนำร่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติแบบบูรณาการ” “เขตทดลองการพัฒนานวัตกรรมทางเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ” และ “มณฑลนำร่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสาธารณะ” ในปี 2562 ยอดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของฝูเจี้ยนได้ทะลุ 1.73 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.7 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.8 ของมูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วประเทศ
.
ฝูเจี้ยนยังมีผลงานการพัฒนาและความเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยดัชนีบริการภาครัฐดิจิทัล (Digital Government Index) อยู่สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ “Minzhengtong”
.
ทั้งนี้ ในปี 2562 จีนมีมูลค่ารวมเศรษฐกิจดิจิทัลทะลุ 35.8 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.2 ของมูลค่า GDP ทั่วประเทศ และจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 จีนมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 940 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่รัฐบาลพัฒนาโครงการเทคโนโลยีดิจิทัลขนาดใหญ่ กล่าวคือ โครงการส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของเครือข่ายดาวเทียมนำทาง “เป่ยโต่ว” (BeiDou Navigation Satellite Systemหรือ BDS) ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ซึ่งดำเนินการสำเร็จเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ภายหลังการพัฒนาเทคโนโลยีมากว่า 26 ปี โดยความสำเร็จของระบบ “เป่ยโต่ว” นี้ ก่อให้เกิดการลงนามสัญญาความร่วมมือกับอีก 137 ประเทศทั่วโลก
.
ขณะที่จีนได้ก่อสร้างระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4G และ 5G ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายทางค่าอินเทอร์เน็ตได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน จีนได้ก่อสร้างสถานีฐาน 5G มากกว่า 500,000 แห่งทั่วประเทศ และในปี 2562 ดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของจีนปรับตัวดีขึ้นเป็นอันดับที่ 45 จากอันดับที่ 65 ของโลก อย่างไรก็ตาม จีนจะต้องก่อสร้างสถานีฐาน 5G มากกว่า 11 ล้านแห่งจึงจะสนองตอบต่อความต้องการในการใช้ 5G ของประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน จีนได้ก่อสร้างสถานีฐาน 5G คิดเป็นร้อยละ 4.5 ของเป้าหมายจำนวนสถานีฐาน 5G ทั้งหมด
.
ทั้งนี้สำหรับโอกาสของไทย ไทยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ระบบอีคอมเมิร์ชเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตแก่ผู้บริโภคได้โดยตรง และเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งไทยสามารถเรียนรู้จากตัวอย่างการพัฒนาของจีน โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ช่วยให้พื้นที่เขตชนบทของจีนหลุดพ้นจากความยากจน ปัจจุบัน ร้านค้าออนไลน์บนแอพพลิเคชั่น Taobao กว่าร้อยละ 25 เป็นร้านค้าจากเขตชนบท และในปี 2562 จีนมีมูลค่ารายได้จากอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ชทั้งหมด 4.4 ล้านล้านหยวน โดยในจำนวนนี้ คิดเป็นมูลค่าการค้าปลีกสินค้าเกษตรถึง 3.97 แสนล้านหยวน
.
อุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าภายในปี 2565 อุตสาหกรรมดิจิทัลจะมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 61 ของมูลค่า GDP ประเทศไทย ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 52 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเพิ่มยอดขายบนตลาดออนไลน์มากขึ้น
.
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน