เมื่อวันพุธที่ 20 กันยายน 2566 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ได้จัดกิจกรรมการพบปะพูดคุยประจำปี 2566 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการไทยในมณฑลยูนนานกับสถานกงสุลใหญ่ โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า A Session with CG ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้มีการพูดคุยกันภายใต้หัวข้อ “Next Normal of Thai businesses in Yunnan after COVID-19” ซึ่งเป็นการหาลู่ทางโอกาสและอุปสรรคของผู้ประกอบการไทยในพื้นที่มณฑลยูนนาน ตลอดจนแนวโน้มการประกอบธุรกิจในจีนช่วงปี 2567
โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ มีจำนวนกว่า 43 คน ได้แก่ หน่วยงานทีมประเทศไทยในนครคุนหมิง ผู้ประกอบการไทยในพื้นที่ เช่น ผู้ประกอบการกลุ่มนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไทย กลุ่มโลจิสติกส์ กลุ่มร้านอาหาร กลุ่มผู้ผลิต และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งหน่วยงานและสมาคมด้านการค้าการลงทุนของจีน
จากกิจกรรมฯ ข้างต้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนี้
(1) โอกาสการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน – สปป. ลาว
เอกชนจีนได้มีการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน – สปป. ลาว มากขึ้น เนื่องจากสมาชิกของสมาคม Yunnan Cross Border E-Commerce Association ได้สร้างโกดังและโกดังเย็นเพื่อรองรับสินค้าที่เวียงจันทน์ ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟจีน – สปป. ลาว ยังสามารถอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้า – ส่งออกสินค้า เช่น ผลไม้ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าผ่านรถไฟจีน – สปป. ลาวยังคงมีอุปสรรค คือ การเก็บค่าใช้จ่ายบริเวณสถานีรถไฟท่านาแล้งในอัตราสูง ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เอกชนจีนประสงค์ร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย
(2) ร้านอาหารไทยขนาดเล็ก/ร้านอาหารจานด่วนมียอดขายเพิ่มขึ้น ขณะที่ร้านอาหารไทยระดับไฮเอนท์หลายแห่งในนครคุนหมิงมียอดขายลดลงในช่วงหลังโควิด-19
ในช่วงหลังโควิด-19 คนจีนเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น ทำให้ร้านอาหารไทยขนาดเล็ก/ร้านอาหารจานด่วนกลับมาขายดียิ่งขึ้น เช่น ร้านข้าวขาหมูหนิงจี้ ที่ขายข้าวขาหมู (อาหารจานเดียว) ราคาไม่แพง (ประมาณ 20 หยวน หรือ 100 บาท/จาน) จึงเป็นที่นิยมและมียอดขายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ทางร้านยังคงประสบปัญหาด้านต้นทุนวัตถุดิบสูงในบางช่วง เช่น เนื้อหมู ผัก ไข่ และข้าว ทั้งนี้ ร้านข้าวขาหมูหนิงจี้ประสงค์มีความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยที่จำหน่ายเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊วและซอสหอยนางรม
ขณะที่ยอดขายช่วงหลังโควิด-19 ของร้านอาหารไทยระดับไฮเอนท์หลายแห่งในนครคุนหมิงสวนทางกลับร้านอาหารไทยขนาดเล็ก/ร้านอาหารจานด่วน โดยร้านอาหาร Cloud 18 และคุ้มจันทร์เจ้าเห็นว่า ยอดขายที่ลดลงอาจเกิดจาก (1) คนจีนสามารถเดินทางไปทดลองอาหารไทยที่ไทยได้ด้วยตนเอง เนื่องจากสามารถเดินทางเข้า-ออกจีนและไทยได้อย่างสะดวกมากขึ้นแล้ว (2) มีร้านอาหารไทยเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากหลังโควิด-19 และ (3) กําลังการบริโภคของคนจีนลดลง
(3) โอกาสผู้ประกอบการและสินค้าไทย
แม้ว่าการบริโภคสินค้านําเข้าของคนจีนมีปริมาณลดลง เนื่องจากกําลังการบริโภคลดลง แต่คนจีนยังคงเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย โดยสินค้าที่ยังคงติดตลาด ได้แก่ ขนบขบเคี้ยว เครื่องดื่ม และเครื่องปรุงรส โดยเฉพาะเครื่องต้มยํากุ้งที่มียอดขายดีต่อเนื่อง ส่วนเครื่องปรุงรสชนิดอื่นที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดคุนหมิง ได้แก่ เครื่องผัดกะเพรา เครื่องสะเต๊ะ และเครื่องผัดผงกะหรี่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายคือ กฎระเบียบนําเข้าของจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ส่งผลให้สินค้าที่เคยนําเข้าได้ตามปกติกลับนําเข้าไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปรุงรสและเครื่องสมุนไพร เช่น น้ำมันหอย น้ำปลาร้า ใบเตย ข่า และตะไคร้
ทั้งนี้ ทางด้านสมาคม Yunnan Cross Border E-Commerce Association ยังเชิญชวนผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากพื้นที่ทดลอง Cross Border E-Commerce (CBEC) ในมณฑลยูนนาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ นครคุนหมิง เขตต้าหลี่ เขตหงเหอ (ติดกับชายแดนเวียดนาม) และเขตเต๋อหง (ติดกับชายแดนเมียนมา)
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์