กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนนิยาม “Deep-Earth Sciences” ให้ครอบคลุมธรณีวิทยา แร่วิทยา แผ่นดินไหววิทยา พลังงานความร้อนใต้พิภพ และวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโครงสร้างและการใช้ทรัพยากรภายในของโลก
โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ในการประชุมสมัชชาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรชั้นนำของจีนจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน สถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน และสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้กำหนดให้ใต้พิภพวิทยาเป็น 1 ใน 4 สาขาแนวหน้าเชิงยุทธศาสตร์ที่จีนพึงมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดย 4 สาขาแนวหน้าเชิงยุทธศาสตร์ของจีนประกอบไปด้วย (1) Deep Space (2) Deep Sea (3) Deep Earth และ (4) Deep Blue
ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของจีนได้จัดให้ใต้พิภพอยู่ในหมวดเดียวกับเทคโนโลยี Deep Space, Deep Earth, Deep sea, Polar Research และเป็น 1 ใน 7 เทคโนโลยีแนวหน้าที่จีนเห็นว่า ควรมุ่งพัฒนาเนื่องจากมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ดี ในเชิงเปรียบเทียบ การสำรวจใต้พิภพเป็นสาขาที่จีนรวมถึงต่างประเทศยังมี “ความคลุมเครือ” อยู่มาก และที่ผ่านมายังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและวิทยาการ รวมไปถึงมีความท้าทายในด้านต่าง ๆ
นัยของการพัฒนาใต้พิภพวิทยา
1. การขับเคลื่อนผลงานวิจัยและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
โครงการใต้พิภพวิทยาและการขุดเจาะหลุมลึก (borehole drilling) เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสำหรับการสำรวจวิวัฒนาการ องค์ประกอบ และการเคลื่อนไหวใต้พื้นผิวโลก ที่ผ่านมาจีนได้ริเริ่มและขยายโครงการขุดเจาะในสถานที่ ๆ ต่าง โดยล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 โครงการ Songke 2 ของจีนประสบความสำเร็จในการขุดเจาะหลุมขนาดลึก เพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในมณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งมีระดับความลึกเป็นอันดับ 3 ของโลก ประมาณ 7,018 เมตร รองจากโครงการ Kola Superdeep Borehole ของรัสเซีย ประมาณ 12,262 เมตร และโครงการ Continental Deep Drilling Program ของเยอรมนี ประมาณ 9,101 เมตร นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัย และรัฐวิสาหกิจจีน ยังมุ่งขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจีนร่วมกับสถาบันบัณฑิตธรณีวิทยาจีนได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการใต้พิภพวิทยาที่กรุงปักกิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาให้เป็นสถาบันวิจัยนานาชาติสำหรับการรวบรวมทรัพยากรการวิจัย ด้านใต้พิภพวิทยาและการสร้างความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการร่วมสำรวจใต้พิภพและการส่งเสริมการแบ่งปันฐานข้อมูลและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับธรณีวิทยาเชิงลึก
2. การรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน
ปัจจุบัน จีนนำเข้าแร่เหล็ก ทองแดง นิกเกิล น้ำมัน และก๊าชธรรมชาติจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแร่เหล็ก ซึ่งจีนนำเข้ามากถึงร้อยละ 80 และยังเป็นผู้นำเข้าทองแดงและนิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลกเพื่อรองรับอุปสงค์การใช้เหล็กกล้าในการก่อสร้างและการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ จีนมีกำลังการผลิตแร่ธาตุหายาก (Rare earth) มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ในขณะเดียวกัน จีนนำเข้าแร่ธาตุหายากมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วยเช่นกัน การลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่ธาตุและพลังงานจากต่างประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอุปทานและราคาวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนในภาพรวม
3. การก้าวข้ามอุปสรรคทางเทคโนโลยี
จีนมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงพลังงานแร่ธาตุ วัตถุดิบทางอุตสาหกรรม และทรัพยากรน้ำปริมาณมหาศาลที่ถูกกักเก็บไว้อยู่ลึกลงไปใต้เปลือกโลก จากการสำรวจทางธรณีวิทยาของจีน คาดการณ์ว่าจีนมีแหล่งแร่และทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในระดับความลึกประมาณ 2,000 เมตร แต่เหมืองส่วนใหญ่ของจีนมีความลึกเพียง 500 เมตร โดยมีน้อยกว่า 20 แห่งที่สามารถขุดเจาะได้ลึกกว่า 1,000 เมตร นอกจากนี้ ปัจจุบันจีนนำเข้าอุปกรณ์การสำรวจธรณีวิทยาเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ของตนเองเพื่อลดการพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ และก้าวข้ามข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี
4. การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีใต้พิภพเกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแร่ธาตุที่จีนมุ่งพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการขุดเจาะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการขุดเจาะและการสกัดแร่ธาตุหลายชนิดจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมาก และอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพและนิเวศวิทยาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ คุณภาพดินและน้ำ ตลอดจนผลกระทบทางสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยอยู่ใกล้เคียง นอกจากนี้ใต้พิภพวิทยายังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการแจ้งเตือนธรรมชาติที่แม่นยำ ตลอดจนการบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ เมื่อปี 2559 จีนให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศแอฟริกาที่ประสบภัยแล้งในการช่วยให้เข้าถึงทรัพยากรน้ำใต้พิภพ
ข้อสรุป
ความทะเยอทะยานของจีนที่จะพัฒนาใต้พิภพวิทยาสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญ 3 ประการหลัก ได้แก่(1) ทิศทางและจุดเน้นใหม่ของจีนในการเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกเทคโนโลยีแนวหน้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ (2) ความประสงค์ของจีนที่จะลดการพึ่งพาจากต่างประเทศและสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ (dual circulation) และ (3) การตระหนักถึงข้อจำกัดในเทคโนโลยีใต้พิภพของจีนและความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขและขับเคลื่อนเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
จึงอาจกล่าวได้ว่า จีนมีแนวโน้มจะทุ่มเทสรรพกำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับในด้านใต้พิภพวิทยา เพื่อสร้างหลักประกันทางพลังงานและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศไทยจึงควรจะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อศึกษาทิศทางและกฎระเบียบที่อาจเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการของจีน เช่น การหาตลาดนำเข้าส่งออกแร่ธาตุและพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจขยายความร่วมมือกับจีนเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยอาจสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับใต้พิภพวิทยาภายใต้กรอบความร่วมมือวิทยาศาสตร์ไทย – จีน ทั้งนี้ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมและความพร้อมของหน่วยงานไทยเป็นหลัก
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง