เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 เครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำหนึ่งได้ขนส่งสุกรพันธุ์มีชีวิตจากประเทศเดนมาร์ก จำนวน 648 ตัว มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียง เมืองกุ้ยหลิน โดยใช้เวลา 6 ชั่วโมงในการดำเนินพิธีการศุลกากร ก่อนจะเคลื่อนย้ายต่อไปยังสถานตรวจกักกันสัตว์ เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงการค้าปศุสัตว์ว่า การขนส่ง “สัตว์มีชีวิต” ต้องบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสม และรักษามาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อให้การนำเข้าสุกรพันธุ์จากเดนมาร์กเป็นไปอย่างรวดเร็วและราบรื่น สนามบินกุ้ยหลินจึงร่วมมือกับศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำนวยความสะดวกด้วยแนวทางเฉพาะแบบ “วัดตัวตัด” (Tailor Made) โดยศุลกากรได้ใช้โมเดล “การยื่นสำแดงล่วงหน้า + การตรวจปล่อยเมื่อถึง” (Pre-Arrival Processing) เพื่อเร่งกระบวนการนำเข้าทางอากาศยาน พร้อมกับการอำนวยความสะดวกจากฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองที่เข้าดำเนินการทันที ณ ลานจอดอากาศยานสำหรับลูกเรือที่เดินทางมาด้วย
ในกระบวนการตรวจปล่อยสินค้าครั้งนี้ ท่าอากาศยานกุ้ยหลินได้จัดหลุมจอดเครื่องบินและช่องตรวจกักกันสัตว์ไว้เฉพาะ พร้อมใช้ระบบควบคุมแบบปิด (Close Loop) ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การขนถ่ายสุกรมีชีวิตลงจากเครื่อง ตรวจโรค ณ จุดควบคุมสุขภาพสัตว์ และการลำเลียงขึ้นรถบรรทุกโดยตรงจากลานจอด เพื่อส่งต่อไปยังกักกันสัตว์ที่เมืองหลิ่วโจว ซึ่งจะใช้เวลากักโรค 45 วันก่อนกระจายไปยังผู้สั่งจองทั่วประเทศจีน รายงานระบุว่า บริษัท Guangxi Guilin Liyuan Group China-Denmark Pig Breeding Co., Ltd. เป็นผู้นำเข้าสุกรปลอดเชื้อ (Specific Pathogen Free: SPF) จากประเทศเดนมาร์กในครั้งนี้ โดยเป็นสุกรพันธุ์ระดับปู่ย่าพันธุ์ (Great Grand Parent – GGP) สายพันธุ์ลาร์จไวท์ (Large White) และดูร็อค (Duroc) ซึ่งมีราคาสูงกว่าหมื่นหยวนต่อตัว จุดเด่นของสุกรพันธุ์เหล่านี้คือโตเร็ว เนื้อแน่น ไขมันต่ำ และให้ลูกดกสูงถึง 5 คอกภายในเวลา 2 ปี ด้านเจ้าหน้าที่สนามบินเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2566 ท่าอากาศยานกุ้ยหลินได้ต้อนรับเที่ยวบินขนส่งสุกรพันธุ์จากต่างประเทศแล้ว 4 เที่ยว รวมจำนวนมากกว่า 2,700 ตัว และจะเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดวางกลไกที่ชัดเจนในการรองรับการนำเข้าสัตว์มีชีวิตในอนาคต อันเป็นการบุกเบิก “ช่องทางทางอากาศ” สำหรับสินค้าปศุสัตว์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบโลจิสติกส์ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มีด่านที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสุกรมีชีวิตเพียง 2 แห่ง ได้แก่ “ด่านท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียง” เมืองกุ้ยหลิน และ “ด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวี” ในนครหนานหนิง ซึ่งด่านหลังยังทำหน้าที่เป็นจุดนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภคอีกด้วย โดยเคยมีประวัติการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมมีชีวิตจากประเทศไทยมาแล้ว ถือเป็นด่านยุทธศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการรองรับสินค้าปศุสัตว์และสัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้าสู่จีนอย่างถูกต้องตามระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัย
ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ปัจจุบันมีด่านที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าสุกรมีชีวิตเพียงสองแห่ง ได้แก่ “ด่านท่าอากาศยานนานาชาติเหลี่ยงเจียง” เมืองกุ้ยหลิน และ “ด่านท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวี” ในนครหนานหนิง ซึ่งด่านหลังยังมีบทบาทเป็นจุดนำเข้าสัตว์น้ำมีชีวิตเพื่อการบริโภค โดยเคยมีประวัติการนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมจากประเทศไทยแล้วเช่นกัน ทั้งสองด่านจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการรองรับการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์และสัตว์น้ำจากต่างประเทศเข้าสู่จีน ภายใต้มาตรการควบคุมที่รัดกุมและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ
ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2567 ระบุว่า เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีสถานกักกันสัตว์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) สำหรับการนำเข้า “โคมีชีวิต” รวมทั้งสิ้น 4 แห่ง โดยอนุญาตให้นำเข้าสินค้าดังกล่าวผ่านท่าเรือหลัก 2 แห่ง คือ ท่าเรือเมืองชินโจว และท่าเรือเมืองฝางเฉิงก่าง ขณะเดียวกัน เมืองระดับอำเภอจิ้งซี ในเมืองไป่เซ่อ ก็กำลังเร่งผลักดันให้ “ด่านสากลทางบกหลงปัง” ได้รับสถานะเป็นด่านนำเข้าโคมีชีวิตเพิ่มเติม หลังจากการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ต้นปี 2566 การนำเข้าสัตว์มีชีวิตในกว่างซีกลับมาคึกคัก โดยในเดือนมีนาคมมีการนำเข้าแม่พันธุ์โคสาวล็อตแรกจำนวน 5,725 ตัว ผ่านด่านท่าเรือชินโจว ประกอบด้วยสายพันธุ์ Holstein, Angus และ Limousin ก่อนเข้าสู่การกักโรค 45 วัน แล้วจึงกระจายไปยังพื้นที่ขยายพันธุ์ในกว่างซี มณฑลยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน ซินเจียง และมองโกเลียใน โดยข้อมูลในปี 2566 พบว่ากว่างซีได้นำเข้าโคมีชีวิตจากออสเตรเลีย 11,969 ตัว และจากนิวซีแลนด์ 6,986 ตัว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการนำเข้าปศุสัตว์มีชีวิตจากประเทศไทยผ่านด่านในกว่างซีจ้วง เนื่องจากไทยยังอยู่ใน “บัญชีรายชื่อประเทศ/ดินแดนที่ห้ามนำเข้าสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์” ของสำนักงาน GACC ซึ่งอัปเดตเป็นระยะ โดยมีสาเหตุจากการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในบางพื้นที่ ส่งผลให้ “โคมีชีวิต” และ “เนื้อวัวจากไทย” ยังไม่สามารถเข้าสู่ตลาดจีนได้โดยตรง เพื่อแก้ปัญหานี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยจึงเร่งผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานจีน ทั้งในด้านการสร้างความเชื่อมั่นในระบบควบคุมโรคระบาดตามหลักสากล และการเชิญเจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจสอบสถานกักกันหรือฟาร์มเลี้ยงโคในไทย หวังเปิดประตูสู่การส่งออก “โคไทย” สู่ตลาดจีนอย่างราบรื่นในอนาคต
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
