นับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ส่งออกไทยเมื่อมณฑลกว่างซี ประเทศจีน ได้พัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติ อู๋ซวี นครหนานหนิง(Nanning Wuxu International Airport) สู่การเป็น hub การขนส่งสินค้า เเละการเดินทางระหว่างจีนตอนใต้กับประเทศอาเซียน โดยเมื่อเดือนกันยายน 2564 สํานักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC ได้อนุมัติให้จัดตั้ง “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสําหรับผลไม้นําเข้า” ในท่าอากาศยานเพื่อรองรับการนําเข้าผลไม้จากต่างประเทศเเละล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ท่าอากาศยาน ได้เปิดใช้ “คลังสินค้าระหว่างประเทศ” แห่งใหม่อย่างเป็นทางการแล้ว โดยคาดว่าคลังสินค้าแห่งใหม่นี้จะช่วยขยายขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น 80,000 ตันต่อปี เป็นคลังสินค้าระหว่างประเทศที่สามารถรองรับการนําเข้า-ส่งออกได้อย่างครบครัน ทั้งสินค้าทั่วไป พัสดุส่งด่วนและไปรษณียภัณฑ์ รวมถึงสินค้ามีชีวิต (สนามบินแห่งนี้เป็นด่านที่ได้รับอนุมัติให้เป็นด่านนําเข้าสินค้ามีชีวิตและเคยนําเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) มีชีวิตจากไทยด้วย) นอกจากนี้ นครหนานหนิงเตรียมขยายโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งนี้ให้มีศักยภาพรองรับงานขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ทางวิ่งเส้นที่ 2 ความยาว 3.8 กิโลเมตร รวมทั้งการเร่งเตรียมการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่ 3 (Terminal 3) และคลังสินค้าเพื่อให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 48 ล้านคนเเละปริมาณสินค้า 5 แสนตัน
.
ด้วยความใกล้ชิดทางการค้าเเละยุทธศาสตร์ Gateway to ASEAN รัฐบาลมณฑลกว่างซี จึงได้กำหนดให้ท่าอากาศยานนานาชาติ อู๋ซวี เป็น hub เชื่อมโยงกับประเทศอาเซียน โดยสำหรับไทยสินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไปและชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิงส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้และพืชผัก ทั้งนี้ เส้นทางการบินขนส่งสินค้าระหว่างนครหนานหนิงเเละเมืองสำคัญต่างๆ เพิ่มจํานวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กรุงเทพฯ นครโฮจิมินห์ของเวียดนาม กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ กรุงพนมเปญของกัมพูชา กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย สิงคโปร์ กรุงธากาของบังกลาเทศ กรุงกาฐมัณฑุของเนปาล
.
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
.
ด้วยระยะเวลาทำการบินเพียง 2 ชั่วโมง ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวี นครหนานหนิง จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ที่ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทําเลที่ตั้งใกล้ไทยให้กลายเป็นตลาดใหม่ซึ่งปัจจุบันยังมีคู่แข่งไม่มากอีกทั้งยังได้รับการอํานวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐในการบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ํามีชีวิต กล้วยไม้ไทย และสินค้าทั่วไปที่ซื้อขายในรูปแบบ Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้
.
ผู้ส่งออกไทยสามารถใช้จุดได้เปรียบจากทําเลที่ตั้งเพื่อใช้ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังเมืองและ มณฑลต่างๆโดยไม่จํากัดรูปแบบการขนส่งเชื่อมต่อเฉพาะเครื่องบินเท่านั้นแต่ยังสามารถใช้รูปแบบการขนส่งทางถนนและทางรถไฟที่เชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย
.
ในอนาคต ภายหลังจากที่ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสําหรับผลไม้นําเข้า” ในท่าอากาศยานแห่งนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จ และผ่านการตรวจรับจาก GACC แล้ว ท่าอากาศยานแห่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยสร้าง “โอกาส”ให้กับผลไม้ไทยที่มีศักยภาพชนิดอื่นๆ ที่ผู้บริโภคชาวจีนยังไม่รู้จักมากนัก ผลไม้เกรดพรีเมียม รวมถึงผลไม้มีเงื่อนไขด้านเวลาและการขนส่ง (บอบช้ำง่าย เน่าเสียง่าย) เช่น ลองกอง ขนุน ชมพู่ มะขาม จากผลไม้ไทยที่ได้รับอนุญาตให้นําเข้าทั้ง 22 ชนิดได้อีกด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง