ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ในปี 2564 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีแผนจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) ครั้งที่ 18 ในรูปแบบผสม “ออฟไลน์+ออนไลน์” โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2564
.
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักเลขาธิการงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (China-ASEAN Expo Secretariat) ได้ประกาศหัวข้อหลักของงาน China-ASEAN Expo (CAEXPO) ครั้งที่ 18 คือ “ร่วมพัฒนาสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ที่มีคุณภาพสูง ร่วมส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือที่ยั่งยืน” เพื่อให้สอดรับกับปี 2564 ที่เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนจีน-อาเซียน
.
งาน China-ASEAN Expo เป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลจีนตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในมิติที่หลากหลายระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมี “นครหนานหนิง” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นสถานที่จัดงานถาวร และช่วยตอบโจทย์ยุทธศาสตร์การเป็น “ประตูสู่อาเซียน” ที่รัฐบาลจีนมอบให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วงด้วย
.
จากสถานการณ์ความไม่ปกติจาก COVID-19 นอกจีนแผ่นดินใหญ่ที่ยังมีทีท่ายืดเยื้อปานปลายในหลายประเทศ ทำให้รูปแบบการจัดงานในปีนี้ยังคงยึดแนวปฏิบัติเดิมจากปีที่แล้ว คือ “ออฟไลน์+ออนไลน์” และได้ขยายความร่วมมือให้กว้างขึ้นสู่กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (อาเซียน + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
.
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืนจีน-อาเซียน” งาน China-ASEAN Expo ปีนี้ จะมุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างยั่งยืนระหว่างกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจและการค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการขจัดความยากจน โดยส่งเสริมให้เศรษฐกิจในภูมิภาคฟื้นตัวอย่างยืดหยุ่นและยั่งยืนหลังยุค COVID-19
.
การขยายกรอบความร่วมมือสู่กรอบ RCEP นั้นหมายความว่า ปีนี้จะมีการเชิญวิสาหกิจในประเทศกรอบ RCEP เข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้าและเข้าร่วมกิจกรรมย่อยเพื่อช่วยส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเชิงลึกระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการค้าสินค้า การค้าบริการ และความร่วมมือด้านการลงทุน
.
ซึ่งการออกบูธแสดงสินค้าในต่างประเทศถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้าและบริการไปประชาสัมพันธ์หรือทดลองตลาด รวมทั้งเป็นจุดนัดพบในการเจรจาการค้าหรือหาหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อต่อยอดธุรกิจในอนาคต แต่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ในขณะนี้ ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางไปเข้าร่วมออกบูธที่นครหนานหนิง อย่างไรก็ดี ฝ่ายผู้จัดได้เปิดช่องให้ผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เข้าไปมีส่วนร่วมในงานดังกล่าวได้ 2 ช่องทาง คือ (1) แพลตฟอร์ม offline ผู้จัดงานเปิดโอกาสให้ผู้กอบการไทยที่มีบริษัทลูกหรือมีตัวแทนในจีนสามารถสมัครเข้าร่วมออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าได้ และ (2) แพลตฟอร์ม online ผู้จัดงานได้พัฒนาเว็บไซต์ให้ผู้ประกอบการอัปโหลดรูปสินค้าและข้อมูลการติดต่อ โดย ผู้ประกอบการควรเตรียมโปรไฟล์บริษัทที่น่าเชื่อถือ รูปถ่ายสินค้าที่น่าดึงดูด และรายละเอียดสินค้าให้ครบถ้วน
.
เงื่อนไขสำคัญของผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo คือ ผู้ประกอบการจะต้องเป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กำลังเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงานอยู่ในขณะนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการเข้าเป็นสมาชิกกรมฯ โดยติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-507 8381 และอีเมล caexpo.ditp@gmail.com
.
ซึ่งงานนี้ จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ระบุว่า ณ สิ้นปี 2563 ประเทศจีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Netizen) พุ่งแตะ 989 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1/5 ของผู้ใช้งานทั่วโลก และมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศ 14.1 เท่า และ Netizen เหล่านี้มีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 99.7% หรือเท่ากับ 986 ล้านคน
.
ดังนั้น การเจาะตลาด Netizen จีนในปัจจุบันจึงเป็นการสร้างเสริมโอกาสทางการค้าในประเทศจีน และผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าวเพื่อต่อยอดธุรกิจผ่านการจัดหาตัวแทนในประเทศจีนหรือการใช้ประโยชน์จากเขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) ซึ่งเป็นเขตปลอดอากรอีกด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง