เศรษฐกิจจีนปี 2564 ถือเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจีนบรรลุเป้าหมาย (1) การเอาชนะความยากจน (2) การเข้าสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของเป้าหมายประการที่ 1 ของ “เป้าหมาย 100 ปี 2 ประการ” (The Two Centenary Goals) (3) ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564-2568) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสู่เป้าหมาย 100 ปี ประการที่ 2 และ (4) สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ภาคการผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอยู่ในสภาวะปกติ
.
จีนได้กำหนดเป้าหมายด้านเศรษฐกิจประจำปี 2565 ดังนี้ (1) GDP ขยายตัวร้อยละ 5.5 (2) การสร้างงานใหม่มากกว่า 11 ล้านคน และอัตราการว่างงานจากการสำรวจไม่เกินร้อยละ 5 (3) CPI เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 (4) รายได้ประเทศเติบโตในระดับเดียวกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน (5) การค้าระหว่างประเทศมีเสถียรภาพและสามารถยกระดับคุณภาพสินค้าส่งออก (6) สร้างความสมดุลของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศในภาพรวม (7) ปริมาณผลผลิตข้าวสารและธัญพืชเพิ่มขึ้นในระดับที่มากกว่า 6.5 แสนล้านกิโลกรัม และ (8) ปริมาณการปล่อยมลพิษลดลงอย่างต่อเนื่อง
.
จีนมีความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ (1) อุปสงค์ชะลอตัว อาทิ การบริโภคฟื้นตัวล่าช้า (2) อุปทานได้รับผลกระทบ อาทิ การขาดแคลนชิป และ (3) การขาดความเชื่อมั่นของตลาด ซึ่งจีนได้ออกมาตรการปี 2565 เพื่อรับมือความท้าทายข้างต้น ดังนี้ (1) มาตรการกระตุ้นการบริโภค ส่งเสริมการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน รวมถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการ (2) มาตรการรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมให้จีนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิป โดยการปรับลดภาษีของบริษัทนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและบริษัทภาคการผลิตที่ดำเนินการวิจัยขั้นพื้นฐาน รวมถึงสนับสนุนเงินทุนให้แก่ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และ (3) มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับตลาด เช่น (1) ปรับลดภาษีและคืนภาษีให้แก่บริษัทภาคการผลิตและผู้ประกอบการรายย่อย มูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านหยวนภายในปี 2565 (2) เพิ่มการปล่อยเงินกู้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกร และ (3) ผลักดันการปรับลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เช่น ลดค่าไฟฟ้าและค่าธรรมเนียมในการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ รวมถึงปราบปรามการเก็บค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ไม่เหมาะสม
.
จากเป้าหมายและแนวทางของจีนดังกล่าว ย่อมเป็นปัจจัยผลักดันมาสู่ไทยที่จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าที่ส่งออกไปจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ข้าวสาร และธัญพืชให้มีคุณภาพและตอบโจทย์อุปสงค์ของผู้บริโภคชาวจีน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจของจีนประจำปี 2565 โดยเฉพาะการรักษาความมั่นคงด้านอาหาร ผลผลิตข้าวสารและธัญพืช ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญในปีนี้ นอกจากนี้ จีนยังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง โดยปัจจุบัน จีนกำลังผลักดันการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้ 5G และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ดังนั้น เศรษฐกิจดิจิทัลจึงเป็นจุดเน้นของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งไทยจึงควรรักษาพลวัตและเพิ่มพูนความร่วมมือให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของจีน ซึ่งจะเอื้อต่อการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับจีนและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์