เมื่อ 4 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการเริ่มงานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021 – 2025) รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ “วงจรคู่ (dual circulation)” และเอื้อต่อนโยบายการพัฒนา “ศูนย์กลาง 5 ด้าน” ของเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ เศรษฐกิจ การเงิน การค้า การขนส่งทางเรือ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยอนุมัติโครงการล็อตแรกจำนวน 64 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 41,620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ความสำเร็จด้านการลงทุนในปี 2563
ในปี 2563 แม้ว่าจะมีผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่เซี่ยงไฮ้ก็ยังมีความคืบหน้าสำคัญในการลงทุน อาทิ
(1) มีการลงนามสัญญาโครงการลงทุนใหญ่ 152 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 441,800 ล้านหยวนเมื่อ 31 มีนาคม 2563
(2) ช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2563 เซี่ยงไฮ้ได้ดึงดูดเงินทุนต่างชาติรวม 17,179 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 6.2
(3) ช่วงงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 3 (5 – 10 พฤศจิกายน 2563) ได้จัดกิจกรรมดึงดูดการลงทุนกว่า 50 รายการทำให้มีการลงนามสัญญาและเริ่มก่อสร้าง 134 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 6,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีบริษัทอีก 429 แห่งที่แสดงความสนใจจะเข้ามาลงทุนในเซี่ยงไฮ้
(4) การลงทุนในทรัพย์สินถาวรของเซี่ยงไฮ้ช่วงมกราคม– พฤศจิกายน 2563 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10.7 โดยในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 นอกจากนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงมกราคม– พฤศจิกายน2563 ยังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.3
แผนงานโครงการลงทุนในปี 2564
ในปีนี้รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศจะดำเนินโครงการลงทุนให้บรรลุตามแผนงานประจำปี 2564 กล่าวคือ ดำเนินการโครงการต่อเนื่องจากเดิมให้แล้วเสร็จ 167 โครงการ และเปิดโครงการลงทุนใหม่ทั้งสิ้น 213 โครงการ โดยโครงการลงทุนล็อตแรก 64 โครงการนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
(1) โครงการขนาดใหญ่และโครงการด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี รวม 52 โครงการครอบคลุมสาขาวงจรรวม (IC) ยาชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เศรษฐกิจออนไลน์ การบินและอวกาศ วัสดุใหม่ และอุปกรณ์ขั้นสูง
(2) โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน รวม 12 โครงการ อาทิ การปรับปรุงขยายเส้นทางถนน และการขยายงานก่อสร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย
ตัวอย่างโครงการลงทุนที่สำคัญ อาทิ โครงการวิจัยและพัฒนาสายการผลิตชิพซิลิคอนระดับ high-end สำหรับวงจรรวมของ Shanghai Zing Semiconductor Corporation โครงการสร้างแพลตฟอร์มมูลค่า 7,500 ล้านหยวนสำหรับบริการบ่มเพาะนวัตกรรมและการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีวภาพของ Shanghai Pharmaceutical Group และโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตคาร์บอนไฟเบอร์ขนาด 12,000 ตันต่อปีของ Sinopec Shanghai Petrochemical เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเซี่ยงไฮ้มีการขับเคลื่อนนโยบายอย่างรวดเร็ว และยังเป็นโครงการที่ตอบสนองยุทธศาสตร์และส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างชัดเจน “ผู้ประกอบการไทย ควรติดตามพัฒนาการของโครงการทางเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้ เพื่อหาโอกาสสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่น ขยายการลงทุนที่สอดคล้องกับเนโยบายการพัฒนา “ศูนย์กลาง 5 ด้าน” ของเซี่ยงไฮ้ ”
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้