จีนมีการค้นคว้าวิจัยแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงพลังงานไฮโดรเจนเพื่อเป็นพลังงานทางเลือกในการลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอน ในขณะเดียวกัน ยังมีการส่งเสริมการพัฒนาของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนหรือยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle — FCEV) ควบคู่ไปด้วย
.
การเติบโตของอุตสาหกรรมพลังงานไฮโดรเจนของจีน และประเทศอื่น ๆ ในโลกยังคงมีจำกัดเนื่องจากอุปสรรค เช่น (1) ต้นทุนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนที่สูง โดยนักวิจัยจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ย้ำว่า ในปัจจุบันจีนมีต้นทุนก๊าซไฮโดรเจนสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนอยู่ที่ประมาณ 70 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งถ้าหากต้องการให้รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนสามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์กับรถยนต์พลังงานฟอสซิลได้ ต้นทุนนี้ควรจะลดลงมาต่ำกว่า 40 หยวนต่อกิโลกรัม (2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สูง และ (3) ต้นทุนและความยากลำบากในการเก็บรักษาและการขนส่งก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งมีสมบัติทางเคมีระเบิดได้ง่าย
.
พลังงานไฮโดรเจนของจีนส่วนใหญ่ยังคงเป็น “พลังงานไฮโดรเจนสีเทา” ที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอาจไม่สามารถช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนที่วางไว้ได้ ดังนั้นจีนจะต้องเร่งผลิต “พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว” ซึ่งผลิตจากกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ โดยบริษัทด้านการลงทุนในจีน เผยว่า เพื่อให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมาย carbon neutral ในปี 2603 (ค.ศ. 2060) ได้นั้น ร้อยละ 8 ของพลังงานที่ใช้ในจีนทั้งหมดจะต้องมาจากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว
.
ในปัจจุบัน ต้นทุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวของจีนอยู่ที่ประมาณ 20 หยวนต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงถ่านหิน ที่อยู่ที่ประมาณ 7-8 หยวนต่อกิโลกรัม โดยร้อยละ 70 ของต้นทุนของพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวมาจากค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวของจีนจะลดลงต่ำกว่าตันทุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงถ่านหินภายในปี 2583 โดยจีนวางแผนที่จะใช้พลังงานไฮโดรเจนในอุตสาหกรรมที่อาจลดการปล่อยคาร์บอนได้ยาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง และขนส่ง
.
จะเห็นได้ว่า จีนเริ่มมีการปรับตัวในการให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปแนวทางเดียวกันกับวาระเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทย และเป้าหมาย SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจด้านความยั่งยืน และพลังงานสะอาด ที่จะสามารถต่อยอดไปได้ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านพลังงาน ต้องมีการปรับตัวมาเน้นด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การทำวิจัยและพัฒนา หรือการปรับแผนธุรกิจ มายังธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อที่จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง