ภาพรวมเศรษฐกิจจีน
.
การเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2564 มณฑลและมหานคร 24 แห่งของจีน ประกาศอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2564 พบว่า 9 อันดับแรกของมณฑลที่มี GDP เติบโตมากกว่าร้อยละ 9.8 ได้แก่ มณฑลหูเป่ย (เติบโตร้อยละ 18.7) มณฑลไห่หนาน (เติบโตร้อยละ 12.8) กรุงปักกิ่ง (เติบโตร้อยละ 10.7) มณฑลซานซี (เติบโตร้อยละ 10.5) มณฑลเจียงซู (เติบโตร้อยละ 10.2) มณฑลอานฮุย (เติบโตร้อยละ 10.2) มณฑลเจียงซี (เติบโตร้อยละ 10.2) นครฉงชิ่ง (เติบโตร้อยละ 9.9) และนครเซี่ยงไฮ้ (เติบโตร้อยละ 9.8) โดยจากตัวเลขดังกล่าว พบว่า GDP ของมณฑลในภาคตะวันตกเติบโตช้ากว่าภาคตะวันออกของจีน เนื่องจากโครงสร้างธุรกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ภาคตะวันตกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากกว่า ซึ่งภาคตะวันตกพึ่งพาธุรกิจการผลิตแบบตั้งเดิมเป็นหลักและขาดแคลนห่วงโซ่ธุรกิจแบบครบวงจร
.
การลงทุนในต่างประเทศ ข้อมูลจากรายงานการลงทุนของจีนในต่างประเทศ ประจำปี 2563 โดย กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชี้ว่า
(1) ช่วงปี 2556-2563 จีนลงทุนในประเทศตามเส้นทาง BRI มูลค่า 139,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(2) ปี 2563 นักลงทุนจีนจัดตั้งบริษัทในประเทศตามเส้นทาง BRI มากกว่า 11,000 แห่ง มีมูลค่าการลงทุน 22,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 จากปี 2559 และคิดเป็นร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศทั้งหมดของจีน โดยการลงทุนของจีนส่วนมากไหลไปยังประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และไทย เป็นต้น
(3) ธุรกิจหลักที่จีนลงทุน ได้แก่ ธุรกิจการผลิต (คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของการลงทุนทั้งหมด) ธุรกิจการก่อสร้าง ธุรกิจการให้บริการพาณิชย์ และธุรกิจการค้าปลีกและการค้าส่ง
(4) ปี 2563 บริษัทจีนได้ดำเนินการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในประเทศตามเส้นทาง BRI มูลค่าทั้งหมด 3,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของมูลค่า M&A ในต่างประเทศทั้งหมดของจีน
.
แผนงาน กฎระเบียบ และนโยบาย
.
แผนการดึงดูดทุนต่างชาติ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศแผนงานการดึงดูดทุนต่างชาติในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025) โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่
(1) ในช่วง 5 ปีของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 จีนจะดึงดูดทุนต่างชาติ (ไม่รวมภาคการเงิน) รวมเป็นมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2563 อยู่ที่ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
(2) ภายในปี 2568 การดึงดูดทุนต่างชาติของธุรกิจเทคโนโลยีชั้นสูงจะคิดเป็นร้อยละ 30 ของการดึงดูดทุนต่างชาติทั้งหมดของจีน (ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 29.6)
(3) การดึงดูดทุนต่างชาติของเขตทดลองการค้าเสรี/ท่าเรือเสรี จะคิดเป็นร้อยละ 19 (ปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 17.9)
(4) ผลักดันการเริ่มใช้งานของความตกลง RCEP รวมทั้งผลักดันการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ตลอดจนเข้าร่วมการจัดทำกฎเกณฑ์การลงทุนระดับสากลที่มีมาตรฐานสูง เป็นต้น
.
การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 กระทรวงการคลังแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนออก “นโยบายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลซึ่งต้องปฏิบัติต่อบริษัทซัพพลายเออร์ในจีนทั้งทุนจีนและทุนต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน” โดยตามกฎระเบียบซัพพลายเออร์ทั้งทุนจีนและทุนต่างชาติจะได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลอย่างเสมอภาค ซึ่งซัพพลายเออร์จะไม่ถูกจำกัดสิทธิ์จากเงื่อนไขที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น มีข้อจำกัดในประเทศที่ลงทุน ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ รูปแบบองค์กร ทั้งนี้ ในกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจีน หากบริษัทจีนหรือบริษัทต่างชาติมีความเห็นว่า สิทธิและผลประโยชน์ของตนได้รับผลกระทบจากความไม่สมเหตุสมผลจากเอกสาร ขั้นตอน ผลของการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว สามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานการคลังระดับต่าง ๆ ในจีนได้
.
ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 สำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีน (Cyberspace Administration of China – CAC) ออกกฎระเบียบการประเมินความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (data) ที่จัดส่งไปยังต่างประเทศ (ฉบับขอรับความคิดเห็นจากประชาชน) โดยมีข้อกำหนดว่า ผู้จัดการข้อมูลที่จะจัดส่งออกข้อมูลไปยังต่างประเทศ จะต้องรายงานต่อหน่วยงานกำกับตูแลไซเบอร์สเปซระดับชาติผ่านหน่วยงานระดับมณฑลเพื่อประเมินความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลใน 5 กรณี ดังต่อไปนี้
.
(1) ข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสำคัญที่เกิดจากและรวบรวมโดยผู้ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทาง
สารสนเทศ (Critical Information Infrastructure)
(2) ข้อมูลที่จะจัดส่งไปต่างประเทศมีข้อมูลที่จัดเป็นข้อมูลสำคัญตามการแบ่งประเภทข้อมูลของจีน
(3) บริษัทจัดการข้อมูลส่วนบุคคลจำนวน 1 ล้านคนขึ้นไปที่ต้องการจัดส่งข้อมูลไปต่างประเทศ
(4) การจัดส่งข้อมูลส่วนบุคคลสะสมแล้วมากกว่าจำนวน 100,000 คน หรือการจัดส่งข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อนจำนวน 10,000 คนขึ้นไป
(5) กรณีอื่น ๆ ที่หน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์สเปซระดับชาติกำหนดว่าต้องดำเนินการประเมิน
ทั้งนี้ หลังจากที่สำนักบริหารไซเบอร์สเปซแห่งประเทศจีนได้รับเอกสารขอประเมินแล้ว ผู้ยื่นขอจะได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 7 วันทำการ โดยหากเข้าสู่ขั้นตอนประเมินจะใช้เวลาประเมินประมาณ 45 – 60 วันทำการ
.
จีนมีแนวโน้มที่จะลงทุนในไทยมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากเห็นไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงสู่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยในช่วงที่ผ่านมา จีนเริ่มหันมาลงทุนด้านโลจิสติกส์ การบริการ และเทคโนโลยีในไทยมากขึ้น โดยธุรกิจการค้าปลีกและการค้าส่งยังมีแนวโน้มที่ดีต่อกันอยู่ ผู้ประกอบไทยจึงสามารถใช้โอกาสนี้ศึกษาการลงทุนใน EEC เพื่อดึงดูดนักธุรกิจจีนในหลายสาขา และพัฒนาระบบ e-commerce เพื่อให้ง่ายและว่องไวต่อการเข้าถึงของผู้ประกอบการจีน นอกจากนี้ แผนการดึงดูดทุนต่างชาติ และกฎระเบียบซัพพลายเออร์ทุนต่างชาติ ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะลงทุนในจีนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังควรศึกษาการใช้ประโยชน์ข้อตกลงการค้าที่มีอยู่ เช่น RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศผ่านการลดภาษี และยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยสู่สากล
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง