เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 นายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยว่า จีนลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) ทั้งหมด 19 ฉบับกับ 26 ประเทศเเละภูมิภาคทั่วโลกมีมูลค่าการค้าระหว่างจีนเเละคู่ค้า FTA คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน ซึ่งจีนกำลังผลักดันการยกระดับ FTA จีน-อาเซียนสู่ระดับ 3.0 อีกทั้งพยายามที่จะเปิดช่องทางการค้าผ่าน FTA มากยิ่งขึ้นเห็นได้จากการที่จีนยื่นคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเเปซิฟิก (CPTPP) เมื่อเดือนกันยายน 2564 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจีนอยู่ระหว่างการประสานงานเเละหารือกับประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยนายหวังฯ ขอให้หน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ท้องถิ่นจีนให้ความช่วยเหลือเเก่บริษัทต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเเละใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จึงนับเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะ FTA จีน-อาเซียนที่กำลังผลักดันเป็น 3.0 เพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าบริการเเละธุรกิจไทยในการเข้าสู่ตลาดจีนมากยิ่งขึ้น
.
นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีน ชี้ว่าในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) อยู่ที่ 11.6 ล้านล้านหยวน สูงสุดในรอบ 8 ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 จากปี 2563 เเละคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน ด้านมูลค่าการลงทุนของจีนในประเทศตามเส้นทาง BRI อยู่ที่ 1.4 เเสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 จากปี 2563 เเละคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.8 ของการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ODI) ทั้งหมดของจีน ในขณะที่การลงทุนตามเส้นทาง BRI ในจีนอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นครั้งเเรกที่การลงทุนดังกล่าวมีมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
โครงการ BRI อาจเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับสินค้าจากไทยและอาเซียนในการนำเข้าและส่งออกสินค้าตามแนวทาง Cross Border E-commerce (CBEC) ที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้เป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าตามแนวทาง BRI ที่สมบูรณ์ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยตามเส้นทางสามารถค้าขายกับจีนผ่านระบบ “พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” โดยมีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ เเละเปิดตลาดเเก่ผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น
.
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์