การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ผู้บริโภคชาวจีนปรับพฤติกรรม และหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (e-Commerce) มากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้มูลค่าตลาด e-Commerce ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ยอดค้าปลีกสินค้าออนไลน์มีมูลค่ากว่า 9.8 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 จากปีก่อนหน้า ทำให้จีนยังคงตำแหน่งตลาดค้าปลีกสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 8 สำหรับในปี 2564 นี้ คาดการณ์ว่าตลาด e-Commerce จีนจะยังคงขยายตัวอย่างโดดเด่น และบริษัทวิจัยตลาด Coresight Research ได้รายงานแนวโน้มตลาด e-Commerce จีนที่ผู้ที่สนใจรวมถึงผู้ประกอบการไทยควรจับตามอง ดังนี้
.
1. Livestreaming จะเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ขาดไม่ได้
Livestreaming จะเป็นอาวุธทางการตลาดที่สำคัญมากและมีแนวโน้มที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหันมาทำ livestreaming เองแทนการจ้าง Key Opinion Leaders หรือ KOLs เนื่องจาก (1) ต้นทุนต่ำกว่า – การจ้าง KOLs 1 ครั้ง ร้านค้าต้องจ่ายค่าจ้าง และอาจรวมถึงค่าคอมมิชชั่นจากการขายให้กับ KOLs เช่น หนึ่งใน KOLs ชื่อดังของจีนอย่าง Austin Li คิดค่าจ้าง 60,000 หยวน และค่าคอมมิชชั่นร้อยละ 20 จากการทำ livestreaming ให้กับขนมขบเคี้ยวยี่ห้อหนึ่งในเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ในปี 2563 ที่ผ่านมา (2) ความเข้าใจและการแนะนำสินค้าที่ลึกซึ้ง – KOLs มักจะแนะนำสินค้าหลาย ๆ ชนิดในการไลฟ์ 1 ครั้งซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถแนะนำสินค้าแบบลงลึกได้เท่าที่ควร อาทิ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 Viya อีกหนึ่ง KOLs ชื่อดังได้แนะนำขายสินค้าถึง 149 ชนิดในระยะเวลาการไลฟ์ 8 ชั่วโมง (3) สามารถเพิ่มความถี่ของการไลฟ์ได้มากขึ้น – ร้านค้าสามารถจัดไลฟ์ได้เท่าที่ต้องการ โดยไม่ต้องกังวลว่า KOLs จะมีเวลาว่างให้หรือไม่ โดยแบรนด์อย่าง Adopt A Cow ได้จัดตั้งทีมงานเพื่อไลฟ์ขายสินค้าเองโดยเฉพาะ และทำการไลฟ์ทุก ๆ วัน ตั้งแต่ มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 มียอดผู้ชมรวมกว่า 400,000 ครั้ง ทั้งนี้ KPMG ร่วมกับ AliResearch ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยของ Alibaba คาดการณ์ว่า ในปี 2564 ตลาด livestreaming e-commerce ของจีนจะเติบโตต่อเนื่อง และมีมูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านล้านหยวน เติบโตถึงร้อยละ 384 จากปี 2562
.
2. แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นจะแบ่งส่วนแบ่งตลาด e-commerce ได้มากขึ้น
แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่กำลังฮิตติดลมบนอย่างโต่วอิน (Douyin) หรือ TikTok และ ไคว่โฉ่ว (Kuaishou) เติบโตอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยข้อมูล ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2563 Douyin มีผู้ใช้รวมกว่า 524 ล้านคน เติบโตร้อยละ 8.5 YoY ส่วน Kuaishou มีผู้ใช้รวมกว่า 408 ล้านคน เติบโตร้อยละ 20.4 YoY และแพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังแย่งส่วนแบ่งตลาด e-Commerce จากเจ้าเก่าอย่าง Alibaba JD.com และพินตัวตัว (Pinduoduo) ด้วยกลยุทธ์ผนวกรวมทั้ง user-generated content และการช้อปปิ้งเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2563 Douyin เริ่มแบนการขายของผ่านแพลตฟอร์มของ Alibaba และบังคับให้ผู้ที่ต้องการขายของต้องขายของผ่านเสี่ยวเตี้ยน (Xiaodian) ซึ่งเป็นช่องทางการขายของ Douyin เอง ซึ่งยอดขายของ Xiaodian ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 44.9 เท่า และมีร้านค้าเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 17.3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
3. มินิโปรแกรมจะเป็นเครื่องมือในการขายและการสื่อสารกับลูกค้าที่สำคัญ
ในปี 2563 ที่ผ่านมาหลาย ๆ แบรนด์ เช่น Baidu และ Wechat ใช้ช่องทางมินิโปรแกรมในการสื่อสารกับลูกค้าโดยตรง รวมถึงใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายสำคัญ ซึ่ง Wechat รายงานยอดขายผ่านมินิโปรแกรมในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. 2563 ว่ามีการเติบโตถึงร้อยละ 115 YoY โดยยอดขายที่มีการเติบโตสูงได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าแบรนด์เนม และห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ Wechat ยังได้เพิ่มฟังก์ชั่นไลฟ์ในมินิโปรแกรม และ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2563 มีผู้ขายกว่า 1 แสนรายที่ใช้ฟังก์ชั่นไลฟ์นี้แล้ว
.
4. กลยุทธ์ C2M จะยิ่งกระตุ้นให้ e-commerce เติบโต
การเข้าใจความต้องการของลูกค้าถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ ซึ่งระบบ C2M (Customer to Manufacture) ช่วยผู้ผลิตในประเด็นนี้อย่างมาก เพราะได้นำเทคโนโลยีและ Big Data มาช่วย ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนาสินค้า รวมทั้งสามารถผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ JD.com รายงานว่า ยอดขายสินค้า C2M ของ JD.com ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 เติบโตถึงร้อยละ 654 YoY และยังได้ประกาศอีกด้วยว่า แพตลฟอร์ม Jingxi ของ JD.com ตั้งเป้าเดินหน้าส่งเสริมให้โรงงานผู้ผลิต 1 แสนราย ยกระดับการผลิตผ่านระบบ C2M ทั้งนี้ บริษัทวิจัย Vzkoo ของจีนคาดการณ์ว่า ตลาด C2M จีนจะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านหยวนภายในปี 2565
.
5. ตลาดสินค้าแบรนด์หรูจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง
ปี 2563 เป็นอีกหนึ่งปีทองของตลาดสินค้าแบรนด์หรูในจีน เนื่องด้วยแบรนด์หรูต่าง ๆ หันไปใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายมากขึ้น รวมกับข้อจำกัดในการเดินทางไปต่างประเทศซึ่งเป็นผลกระทบจากโรค COVID-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาซื้อสินค้าแบรนด์หรูในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ โดยในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาด e-Commerce แบรนด์หรูมีมูลค่ารวม 9.3 หมื่นล้านหยวน และ McKinsey คาดว่า ตลาดนี้จะมีมูลค่ากว่า 1.47 แสนล้านหยวนภายในปี 2568
.
6. กลยุทธ์ “เทศกาลช้อปปิ้ง” จะเป็นกิจกรรมหลักที่ดึงดูดลูกค้าได้ดี
ในปี 2563 เทศกาลช้อปปิ้งยังคงดึงดูดลูกค้าและกระตุ้นยอดขายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ของ Alibaba มีมูลค่ายอดขายรวมทุกช่องทาง (GMV) อยู่ที่ 4.982 แสนล้านหยวน สูงกว่ายอดขายรวมของปี 2019 กว่า 1 เท่าตัว โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยอดขายพุ่งทะยานเป็นเพราะ Alibaba จัดงานติดต่อกัน 11 วัน (1-11 พ.ย. 2563) ไม่ได้จัดเพียงวันเดียวเหมือนปีก่อน ๆ ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลาย ๆ แพลตฟอร์มได้สร้างเทศกาลช้อปปิ้งของตัวเองขึ้นมาเช่นกัน เช่น เทศกาล 616 ของ Kuaishou และเทศกาล Chongfen ของ Douyin เป็นต้น
.
7. แพลตฟอร์มน้องใหม่อย่าง Community Group Buying จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง
อีกหนึ่งแนวโน้มใหม่ที่เติบโตอย่างมากท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คือ Community Group Buying หรือ การรวมกลุ่มของผู้ซื้อในชุมชน ซึ่งเป็นการชวนคนในชุมชนมารวมกันซื้อของในจำนวนมากจากผู้ผลิต/ผู้ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่งผลให้กลุ่มผู้ซื้อได้สินค้าในราคาที่ถูก สะดวก และประหยัดเวลาเดินทาง โดยผู้เล่นรายใหญ่หลาย ๆ รายได้กระโดดเข้ามามีส่วนร่วมในวงการนี้ เช่น (1) Chengxin Youxuan ของ Didi Chuxing (2) Meituan Youxuan ของ Meituan (3) Duo Duo Maicai ของ Pinduoduo และ (4) Nice Tuan ของ Alibaba
.
8. เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ e-Commerce สนุก และน่าตื่นเต้นขึ้น
พัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ช่วยส่งเสริมให้ประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์สนุก น่าตื่นเต้น และยังช่วยประหยัดต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างมาก โดย Alibaba เผยว่า ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ของปี 2563 มีร้านค้ากว่า 100 ร้านที่ใช้พิธีกรปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการไลฟ์ขายสินค้า นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยี AI ในการตอบคำถามของลูกค้า และแปลไลฟ์แบบ real-time เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษารัสเชีย ภาษาสเปน
.
9. บริษัท e-Commerce จะลงทุนในเครือข่าย Last-mile Delivery มากยิ่งขึ้น
เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อลดต้นทุนในระยะยาว ผู้ประกอบการ e-Commerce จีนลงทุนในเครือข่าย Last-mile Delivery หรือ การจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าปลายทาง มากยิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา และจะลงทุนต่อเนื่องในอนาคต โดยในเดือน มิ.ย. 2563 Cainiao ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งสินค้าของ Alibaba เผยว่า จะสร้างศูนย์กระจายสินค้าเพิ่มอีก 30,000 จุด ใน 100 เมืองทั่วจีน
.
10. COVID-19 เร่งให้ New Retail เติบโตอย่างรวดเร็ว
New Retail หรือ การค้าปลีกยุคใหม่ ซึ่งเป็นการผสานประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยการแพร่ระบาดของ COVID-19 สร้างแรงกดดันและแรงกระตุ้นให้ร้านค้าต่าง ๆ เร่งพัฒนาช่องทางการขายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อขยายช่องทางการขายและเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
.
อาจกล่าวได้ว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นั้น เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ตลาด e-Commerce และพฤติกรรมผู้บริโภคจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าการที่ผู้ประกอบการจีนมีการปรับตัวในการเผชิญสถานการณ์ COVID-19 ได้เป็นอย่างดีนั้น ส่งผลให้ระดับการแข่งขันในตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการที่จีนนั้นเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยสามารถดูแนวทางการปรับตัวของจีน และนำมาเป็นตัวอย่างสำหรับการพัฒนาธุรกิจของตนต่อไปได้ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการลดต้นทุน และส่งเสริมการขาย ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจต่างชาติได้อย่างยั่งยืน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.transtimenews.co/5402/