ในอดีต รถยนต์ไร้คนขับจะปรากฏเห็นในภาพยนตร์แนวไซไฟเท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยี 5G และ Internet of Things (IoT) ทำให้รถยนต์ไร้คนขับกำลังเปลี่ยนจากรถในความฝันกลายเป็นสิ่งที่จับต้องมองเห็นได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในจีน รวมทั้งอาจเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยลดจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และผลักดันธุรกิจ car sharing ได้อีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน กระทรวงคมนาคมจีน และกระทรวงความมั่นคงของจีนได้ร่วมประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนนตั้งแต่ปี 2561 และในช่วงที่ผ่านมาหลายเมืองในจีน ไม่ว่าจะเป็น นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ นครฉงชิ่ง และเมืองเซินเจิ้น ต่างได้เดินหน้าทดสอบรถยนต์ไร้คนขับเช่นกัน
.
สำหรับกรุงปักกิ่งนั้น การทดสอบรถยนต์ไร้คนขับและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนากรุงปักกิ่งให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสากล ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เป้าหมายการพัฒนาของกรุงปักกิ่ง (อีก 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป็นศูนย์กลางทางการเมืองของจีน ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของจีน และศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ) โดยในช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน กรุงปักกิ่งกำลังเดินหน้าทดสอบรถยนต์ไร้คนขับจากเดิมที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (เช่น การจัดเตรียมพื้นที่ทดสอบ และการติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง) สู่การพัฒนาระบบที่สมบูรณ์แบบในลักษณะ “Intelligent Roads + Smart Cars + Real-time Clouds + Reliable Networks + Accurate Maps” ซึ่งนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่งเรียกว่าเป็นการพัฒนาทดสอบรถยนต์ไร้คนขับในลักษณะ “จาก 1.0 สู่ 2.0”
.
โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2563 กรุงปักกิ่งได้อนุมัติรถยนต์ทดสอบบนท้องถนนทั้งหมด 87 คันจากบริษัท 14 แห่ง เช่น Baidu, NIO, Daimler, DiDi และ BJEV เป็นต้น รวมทั้งมีการเปิดถนนเพื่อการทดสอบจำนวน 200 สายโดยมีระยะทางทั้งหมด 700 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ทางด่วน และเขตชนบท ได้แก่ เขตสุ้นยี่ 26 สาย, เขตไห่เตี้ยน 52 สาย, Beijing Economic-Technological Development Area (Beijing ETOWN) 111 สาย และเขตฝางซาน 11 สาย ตลอดจนมีระยะทางทดสอบรถยนต์ไร้คนขับอย่างปลอดภัยไม่มีอุบัติเหตุเกิน 2.2 ล้านกิโลเมตร ซึ่งล้วนติดอันดับแรกของจีน
.
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2563 บริษัท Baidu เปิดบริการทดสอบ Robotaxi ฟรีที่เขตไห่เตี้ยน Beijing ETOWN เขตสุ้นยี่ และเขตทงโจว โดยผู้ใช้บริการสามารถเรียกทดสอบใช้ Robotaxi ในบริเวณที่กำหนด นับเป็นเมืองที่สามที่ Baidu เปิดทดสอบบริการดังกล่าวหลังจากที่เปิดในนครฉางซา มณฑลหูหนาน และเมืองชางโจว มณฑลเหอเป่ยแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 Baidu เปิดบริการทดสอบ Robotaxi ฟรีที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง โดยมี Robotaxi 4 คันให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับระดับ L4 บนถนนเส้นหลักในเมืองต้าเหลียน นับเป็นการทดสอบ Robotaxi บนท้องถนนที่มีสภาพจราจรซับซ้อนครั้งแรกในจีน
.
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเดือน ส.ค. 2563 ในการก่อสร้างทางด่วนกรุงปักกิ่ง-เขตเมืองใหม่สงอัน (Xiongan New Area) มีการใช้รถก่อสร้างถนนไร้คนขับที่เชื่อมโยงกับระบบดาวเทียมเป๋ยโต่ว (BeiDou Navigation Satellite System) ของจีนมาสร้างเลนทางด่วนสองเลนสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ โดยรถก่อสร้างถนนไร้คนขับเหล่านี้สามารถควบคุมความแม่นยำของการสร้างถนนให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ไม่เกิน 2 – 3 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการใช้แรงงาน คาดว่าทางด่วนดังกล่าวจะเปิดใช้บริการในสิ้นเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงจากกรุงปักกิ่งถึงเขตเมืองใหม่สงอัน
.
โดยแผนพัฒนารถยนต์ไร้คนขับของกรุงปักกิ่งในขั้นตอนต่อไปนั้น ยังคงจะมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากการกำหนดให้การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกรุงปักกิ่งระยะ 5 ปี (2564-2568) ฉบับที่ 14 ที่ได้รับการอนุมัติในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนของกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการกำหนดนโยบายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาระบบและมาตรฐาน “Roads + Cars + Clouds + Networks + Maps” เพื่อสนับสนุนรถยนต์ไร้คนขับ การจัดตั้งแพลตฟอร์มให้บริการการเดินทางด้วยรถยนต์ไร้คนขับ การพัฒนาเครือข่ายทางถนนสำหรับรถยนต์ไร้คนขับมากกว่า 6,000 กิโลเมตร การพัฒนาทางด่วน Internet of Vehicle ระหว่างกรุงปักกิ่ง-นครเซี่ยงไฮ้ และการพัฒนาเขตสาธิตรถยนต์ไร้คนขับระดับสูง (ระดับ L4) มากกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร เป็นต้น
.
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับของกรุงปักกิ่งยังเป็นการทดสอบเฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งยังต้องยกระดับทางเทคโนโลยีเพื่อให้รถยนต์ไร้คนขับสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมท้องถนนที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเผชิญความท้าทายการปรับปรุงสภาพถนนให้เหมาะกับการใช้งานของรถยนต์ไร้คนขับ ตลอดจนแก้ไขปัญหาต้นทุนที่สูงมากของรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
.
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้จะยังไม่มีการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับอย่างขนาดการทดสอบในหลายเมืองของจีน แต่ประสบการณ์ของจีนในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาระบบคมนาคม น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องในไทย จึงนับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่น่าศึกษาและติดตามต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง