มณฑลยูนนานจัดว่าเป็น “ประตู” สู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนตามยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีสี จินผิ้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับทั้งสองภูมิภาคได้รวมไปถึงประเทศไทย ผ่านกลไก Belt and Road Initiative (BRI) และเครือข่ายคมนาคมหลากหลายรูปแบบ (Multimodal transportation) ได้อย่างสะดวก โดยในภาพรวมการค้าระหว่างไทยและมณฑลยูนนานมีลักษณะพึ่งพาซึ่งกันและกันมากกว่าการแข่งขันกัน และถึงแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 แต่มูลค่าการค้าทวิภาคีกลับยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการค้าสินค้าเกษตรเป็นหัวใจหลัก โดยตามสถิติสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ช่วงครึ่งปีแรก 2564 การค้าระหว่างไทยและมณฑลยูนนานมีมูลค่าประมาณ 1,001 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเติบโตร้อยละ 82 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการค้าสินค้าเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 41.8 ในจำนวนนี้ สินค้าผักและผลไม้สดมีมูลค่าประมาณ 543 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 50.7 โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าผักและผลไม้สดที่มีมูลค่าสูงที่สุดของมณฑลยูนนาน
.
นายต้วน เจาฮุย รองเลขาธิการ หอการค้าระหว่างประเทศจีนประจำมณฑลยูนนาน (CCOIC Yunnan Chamber of Commerce) ได้กล่าวถึงข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศของมณฑลยูนนานที่หลากหลาย ทำให้สามารถผลิตสินค้าผักและผลไม้คุณภาพดีได้หลายประเภท นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงการเติบโตด้านการค้าสินค้าเกษตรของจีนเนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน “การฟื้นฟูชนบท” (Rural revitalization) ของรัฐบาลจีนผ่านการเกษตรให้มากขึ้น ถึงอย่างไรก็ตามมูลค่าการค้าผักและผลไม้สดระหว่างไทยและจีน ผ่านมณฑลยูนนานยังมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10 ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรส่งเสริมการเพิ่มพูนการค้าสินค้าดังกล่าวทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนี้
.
(1) รักษาการค้าแบบสองทาง (two-way trade) เพื่อบ่มเพาะสภาพแวดล้อมการค้าทวิภาคีแบบ win-win โดยที่ผ่านมามณฑลยูนนานจะนำเข้าผักและผลไม้สดเมืองร้อนจากไทยช่วงระหว่างเดือนมกราคม – มิถุนายน ขณะที่ไทยจะนำเข้าผักและผลไม้สดเมืองหนาวจากยูนนานช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – ธันวาคมแทน ซึ่งต่างก็มีมูลค่าใกล้เคียงกัน
.
(2) ใช้ประโยชน์ ‘Hardware’ ในด้านความเชื่อมโยงให้เต็มประสิทธิภาพ ได้แก่ การขนส่งข้ามแดนผ่านถนน R3A ที่ขณะนี้มณฑลยูนนานอยู่ระหว่างการศึกษา การก่อสร้างทางด่วนบ่อเต็น-ห้วยทรายในลาว เร่งกลับมาเปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ยเพื่อการขนส่งสินค้าระวางมากขึ้นผ่านแม่น้ำโขง การขนส่งทางอากาศที่สามารถรักษาคุณภาพสินค้าได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการขนส่งทางรางผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว
.
(3) ยกระดับและปรับปรุง ‘Software’ ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบและมาตรฐาน ได้แก่ ใช้ประโยชน์ความตกลงทางการค้าในภูมิภาคโดยเฉพาะ ACFTA และ RCEP เพื่อสร้างความยืดหยุ่นโดยผลักดันเพิ่มช่องทางการนำเข้าผักและผลไม้สดของมณฑลยูนนานนอกไปจากด่านโม่ฮาน โดยเฉพาะการให้สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) อนุมัติเพิ่มด่านท่าเรือกวนเหล่ยที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกคลังสินค้าห้องเย็น ตลอดจนเร่งเปิดเผยแผนงานที่ชัดเจนของการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาวต่อไป
.
ในส่วนของประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทย รองมาจาก อาเซียน โดยเฉพาะในช่วงหลังจากปลายปีนี้เป็นต้นไปเมื่อรถไฟเส้นทางลาว – จีนเปิดใช้บริการ การค้าผ่านช่องทางรถไฟจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการช่วยประหยัดเวลาสำหรับการขนส่งสินค้าและช่วยขยายตลาดสินค้าไทยออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตร ควรเร่งปรับตัวและศึกษาถึงโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและส่งออกสินค้าในด้านปริมาณและคุณภาพออกไปสู่ประเทศที่มีความต้องการสูงต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุณหมิง