ปัจจัยสำคัญในการเข้ามาลงทุน
.
1.เมืองจ้านเจียงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง ได้แก่ การผลิตเหล็กกล้า ปิโตรเลียม และยานยนต์สมัยใหม่แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิมของพื้นที่ โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าเกษตรซึ่งเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทย เนื่องจากปัจจุบันเมืองจ้านเจียงยังไม่มีการลงทุนในด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร รวมทั้งสินค้าประเภทอัญมณีและไข่มุกมากนัก อีกทั้งธุรกิจไทยยังคงมีความเชี่ยวชาญและศักยภาพในด้านดังกล่าวอยู่มาก
.
โดยภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 14 ทางการจีนมีมาตรการส่งเสริม คือ บริษัทที่มีการลงทุนมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จะได้รับเงินสนับสนุนร้อยละ 2 ของมูลค่าการลงทุนจากรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งไม่เกิน 100 ล้านหยวน และเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลเมืองจ้านเจียงอีกร้อยละ 10 ของเงินสนับสนุนจากรัฐบาลมณฑลซึ่งไม่เกิน 1 ล้านหยวน
.
2.เมืองจ้านเจียงมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์โดยเป็นพื้นที่ปลายสุดทางตอนใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ และเป็นที่ตั้งหลักของฐานทัพเรือกองกำลังเขตรบภาคใต้ (China Southern Theater Command) ซึ่งคุมกองกำลังใน 6 มณฑล ได้แก่ กว่างตุ้ง กว่างซี ไห่หนาน ยูนนาน หูหนาน และกุ้ยโจว ตลอดจนกองกำลังในฮ่องกง มาเก๊า และทะเลจีนใต้ รวมพื้นที่ทางบก 1.21 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นร้อยละ 12.6 ของพื้นที่ทางบกทั้งหมดของจีนและพื้นที่ทางน้ำ 2 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นร้อยละ 67 ของพื้นที่ทางน้ำทั้งหมดของจีน
.
เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ดังกล่าว ส่งผลให้เมืองจ้านเจียงเป็นที่ตั้งของท่าเรือแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาซึ่งอยู่ด้านในของอ่าวจ้านเจียง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเดินเรือขนส่งก๊าซ โดยมีบริษัทจากประเทศไทย เช่น บริษัทสยามแก๊ส ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่ และอาจพิจารณาขยายการลงทุนในด้านคลังเก็บน้ำมันในพื้นที่บริเวณนี้ต่อไปได้ เนื่องจากเมืองจ้านเจียงมีท่าเรือสำหรับนำเข้าน้ำมันดิบและมีคลังเก็บน้ำมัน ซึ่งสามารถใช้เช่าเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนสำหรับดำเนินธุรกิจ re-export ได้
.
3.เมืองจ้านเจียงกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ความเร็ว 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งหมด 5 สายไปยัง (1) นครกว่างโจว-เมืองจ้าวชิ่ง (2) เมืองเซินเจิ้น-เมืองซ่านโถว-มณฑลฝูเจี้ยน (3) มณฑลไห่หนาน (4) เขตฯ กว่างซี-มณฑลกุ้ยโจว-มณฑลหูเปย และ (5) เขตฯ กว่างซี-มณฑลยูนนาน รวมทั้งมีกำหนดเปิดใช้ท่าอากาศยานแห่งใหม่ที่เขตอู๋ชวน ในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 19 ล้านคนต่อปี
.
4.เมืองจ้านเจียงเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำของนักลงทุนไทย โดยหนึ่งในนั้นคือบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และจักรยานยนต์ Zhanjang Deni Vehicle Parts ซึ่งบริษัท CP ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 28 ในนามบริษัท Golden Industrial Investment ของฮ่องกง
.
นายหยาง จวิน ประธานอาวุโสบริษัท CP ได้กล่าวไว้ว่า การลงทุนด้านฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่ของบริษัทในเมืองจ้านเจียงได้นำระบบ Smart Farming มาปรับใช้อย่างครบวงจรตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ การเลี้ยง อาหารสัตว์ การขนส่ง และค้าปลีก และมีการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นอาหารสัตว์ด้วย ทั้งนี้ บริษัท CP เห็นว่า เมืองจ้านเจียงมีศักยภาพมาก โดยบริษัทมีโครงการที่จะขยายการลงทุนเพิ่มเติมทั้งด้านฟาร์มเกษตร ฟาร์มปศุสัตว์ และค้าปลีกต่อไปในอนาคต
.
5.เมืองจ้านเจียงเป็นเมืองที่ได้ลงนามส่งเสริมความร่วมมือกับจังหวัดภูเก็ตของไทยปี 2559 และกับจังหวัดพังงาปี 2560 เพื่อนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่น้องระหว่างกัน โดยหน่วยงานระดับท้องถิ่นของทั้งสองฝ่ายได้มีการประสานงานและจัดประชุมด้านความร่วมมือระดับสูงมาเป็นอย่างดีตลอด ซึ่งจะช่วยขยายประโยชน์ในการร่วมมือระหว่างกันได้ต่อไป
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองจ้านเจียงมีศักยภาพในการประกอบการด้านธุรกิจและการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันมีธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และค้าปลีก เป็นจำนวนมาก ซึ่งความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างเมืองจ้านเจียงกับไทยยังคงมีศักยภาพที่จะพัฒนาและขยายต่อไปได้อีกมาก โดยเฉพาะในด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เนื่องจากเมืองจ้านเจียงเป็นแหล่งผลไม้เขตร้อน รวมทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธ์กุ้ง ไข่มุก และอาหารทะเลที่สำคัญ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่สนใจลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้านการแปรรูปสินค้าการเกษตรในเมืองจ้านเจียงเพื่อส่งออกขายในตลาดประเทศจีนและประเทศใกล้เคียงต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.chinadaily.com.cn/m/guangdong/zhanjiang/2014-12/24/content_19157226.htm