ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง (รหัส IATA : NNG) เรียกสั้นๆ ว่า “สนามบินหนานหนิง” เปิดตารางบินฤดูร้อน ปี 2567 เพิ่มความถี่ของเส้นทางบินที่มีอยู่เดิม และเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในและต่างประเทศหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางบินกับประเทศไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อน และมาตรการ “วีซ่าฟรี” ระหว่างนักท่องเที่ยวไทย-จีน
สายการบิน ‘GX Airlines’ หรือ ‘สายการบินเป่ยปู้วาน’ ถือเป็น “พระเอก” ของผู้ให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศในฤดูร้อนนี้ สายการบินรายนี้เป็นสายการบินท้องถิ่นรายใหญ่ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (บริษัทลูกของ Hainan Airlines)
ตามรายงาน สายการบิน GX Airlines ได้เพิ่มความถี่ของเส้นทางบิน “หนานหนิง – กรุงเทพฯ” เป็นวันละ 2 เที่ยว เมื่อรวมกับผู้ให้บริการรายอื่น คือ สายการบิน Spring Air และสายการบิน China Southern Airlines ทำให้เส้นทางบิน “หนานหนิง – กรุงเทพฯ” มีจำนวนรวม 32 เที่ยวต่อสัปดาห์ ช่วยให้การเดินทางไปมาหาสู่มีความสะดวกสบาย ตอบโจทย์ความต้องการเดินทางได้ตลอดทั้งวัน (เฉลี่ยวันละ 3 เที่ยว)
ล่าสุด สายการบิน GX Airlines เปิดเส้นทางบินใหม่ “หนานหนิง-ภูเก็ต” โดยได้เริ่มให้บริการเที่ยวปฐมฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ซึ่งได้ให้บริการไป-กลับ วันละ 1 เที่ยว
นอกจากนี้ สายการบิน GX Airlines ยังได้จัดแคมเปญเดินทางเที่ยวไทยราคาประหยัดด้วย ‘ตั๋วครั้ง’ ในราคาต่ำสุดเพียงใบละ 800 หยวน (2 ครั้ง) โดยนักท่องเที่ยวสามารถนำตั๋วไปแลกบัตรโดยสารในเส้นทาง “หนานหนิง-กรุงเทพฯ” หรือ “หนานหนิง-ภูเก็ต” ได้ตามใจชอบ
ทั้งนี้ ทางศูนย์ BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2566 ท่าอากาศยานนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิง เป็น 1 ใน 30 ท่าอากาศยานชั้นนำของจีน มีจำนวนผู้โดยสารผ่านเข้า-ออก 13.69 ล้านคนครั้ง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 105.6 มีเที่ยวบินในประเทศ 145 เส้นทาง และเที่ยวบินระหว่างประเทศ 23 เส้นทาง มีจำนวนเที่ยวบินขึ้น-ลง 109,754 ล้านเที่ยวครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 มีปริมาณขนถ่ายสินค้าทางอากาศรวม 189,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7
ด้านสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหนานหนิง เปิดเผยว่า ช่วงซัมเมอร์นี้เป็นช่วงพีคที่มีประชาชนเดินทางไปทำหนังสือเดินทางเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยวันละ 3,000 เล่ม และสามารถรับเล่มใน 5 วันทำการ คาดว่านักท่องเที่ยวจะทยอยออกเดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567
ในบริบทที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค next normal โดยเฉพาะกระแสการท่องเที่ยวด้วยตนเองแบบอิสระ หรือ FIT (Free and Independent Traveler) ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองมีความสะดวกและง่ายดายเป็นอย่างมาก ทั้งแอปพลิเคชันจองที่พักและการเดินทาง แอปพลิเคชันแปลภาษาและแผนที่เดินทาง
นักท่องเที่ยวแบบ FIT ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen Y) ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบที่สามารถกำหนดเองได้ กล้าใช้จ่าย และติดโซเชียล ชอบ ‘แชท แชะ แชร์’ ผ่านแอปพลิเคชัน Wechat (ฟังก์ชัน Wechat Moment & Wechat Channels), Tiktok และ Kuaishou หรือเว็บบล็อกอย่าง Little Red Book และ Weibo

นอกจากนี้ ยังมีการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ส่วนตัวขนาดเล็ก กรุ๊ปทัวร์แบบ ‘วัดตัวตัด’ (Tailor Made) การท่องเที่ยวเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน (การแพทย์และสุขภาพ กีฬา ธุรกิจ การประชุม นิทรรศการ) หรือกระทั่งการเดินทางไปเพื่อซื้อที่พักอาศัย/คอนโดมิเนียมในประเทศไทย การมาพักผ่อนระยะสั้น-ยาวเพื่อการพักฟื้นร่างกายและสภาพจิตใจ (Staycation) รวมถึงกลุ่ม Workation ที่ต้องการทำงานในขณะท่องเที่ยวไปด้วย และกลุ่มใหม่อย่าง work from anywhere ด้วย
พฤติกรรมข้างต้นทำให้บทบาทของบริษัทนำเที่ยวที่จะต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มุ่งเน้นการสร้าง ‘ประสบการณ์ของลูกค้า’ (Customer Experience) และการสร้างความยืดหยุ่นของผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่มีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น
ยิ่งในโอกาสที่ประเทศไทยได้เริ่มบังคับใช้มาตรการด้านการตรวจลง (วีซ่า) สำหรับชาวต่างชาติ รวมถึงชาวจีน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม 2567 ไม่ว่าจะเป็นมาตราการ ‘วีซ่าฟรี’ สำหรับนักท่องเที่ยวจาก 93 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลก ให้สามารถพำนักในประเทศไทยได้ไม่เกิน 60 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้อีกไม่เกิน 30 วัน และการตรวจลงตรา(วีซ่า)ประเภทใหม่ “Destination Thailand Visa – DTV” สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการจะพำนักในไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน หรือกลุ่มที่มาพำนักเพื่อเรียนมวยไทย เรียนทำอาหาร หรือทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการแพทย์ โดยอยู่ในไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน อายุการตรวจลงตรา 5 ปี
BIC เห็นว่า สถานการณ์ภาพรวมของการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหลักเริ่มมีสัญญาณไปในทิศทางเชิงบวก ด้วยแรงขับเคลื่อน (Driving Forces) หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนและความถี่ของเที่ยวบิน การเปิดให้บริการเที่ยวบินในเส้นทางใหม่ ๆ ระหว่างไทยกับต่างประเทศ และการออกมาตรการเชิงรุกของไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โดยที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีน เป็นหนึ่งในตลาดและเป้าหมายหลักของธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการของไทย ตามที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนในปี 2567 จำนวน 8 ล้านคน ดังนั้น ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องศึกษาพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนอย่างใกล้ชิด ปรับตัวและพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับพฤติกรรมและตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยที่สามารถเป็นเจ้าบ้านที่ดีมีน้ำใจ ร่วมกันรักษาภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว รักษาคุณภาพการบริการ และมาตรการด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อให้ “ท่องเที่ยวไทย” ยังครองใจนักเดินทางชาวจีน
จัดทำโดย: นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง/ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
แหล่งข้อมูล:
(1) www.gx.chinanews.com.cn (วันที่ 28 มิถุนายน 2567 และ 04 กรกฎาคม 2567)
(2) www.caac.gov.cn/index.html
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์