กุ้ยก่าง (Guigang City/贵港市) เมืองทางตะวันออกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนเป็ดจนได้รับการขนานนามว่า “บ้านเกิดของขนเป็ดในประเทศจีน” อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตและศูนย์กระจายขนอ่อนเป็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกว่างซี และเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนเป็ดที่สำคัญที่มีปริมาณการนำเข้าขนอ่อนเป็ดมากที่สุดในประเทศจีนด้วย โดยสินค้าขนเป็ดที่ผลิตในเมืองกุ้ยก่าย ไม่เพียงจำหน่ายทั่วจีนเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปยังตลาดอาเซียน รวมถึงประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกา “ปัจจุบัน เมืองกุ้ยก่างมีผู้ประกอบการแปรรูปขนเป็ดราว 170 ราย มีความต้องการใช้ขนเป็ดราวปีละ 90,000 ตัน ปริมาณการแปรรูปคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ทั้งจีน และร้อยละ 18 ของโลก”
ในปี 2566 อุตสาหกรรมขนเป็ดในเมืองกุ้ยก่างมีมูลค่าการผลิตรวมสูงถึง 4,700 ล้านหยวน โดยขนเป็ดราวร้อยละ 40 นำเข้าจากต่างประเทศ ในแต่ละปีต้องนำเข้าขนเป็ดราว 30,000 – 50,000 ตัน โดยแหล่งนำเข้าส่วนใหญ่จากประเทศสมาชิกอาเซียน — ข้อมูลจากคุณหยาว เสี่ยม่าน (Yao Xiaoman/姚小蔓) ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมขนเป็ดแห่งประเทศจีน (China Feather and Down Industrial Association/中国羽绒工业协会)
ประเทศจีนให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพและมาตรการที่เข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้า(เกษตรและปศุสัตว์)ที่อาจมีความเสี่ยงในการนำเข้าแมลง พาหะโรค โรคระบาด หรือสารพิษปนเปื้อนเข้ามาในประเทศ ซึ่งรวมถึงสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่าง “ขนอ่อนเป็ด” ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดนก ดังนั้น การนำเข้าขนอ่อนเป็ดจึงมี ระเบียบ/ข้อกำหนด ที่เข้มงวดและยุ่งยากซับซ้อน
ที่ผ่านมา ด้วยข้อจำกัดที่เมืองกุ้ยก่างตั้งอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน มีเพียงด่านท่าเรือแม่น้ำที่ชื่อว่า “ท่าเรือกุ้ยก่าง” หรือ Guigang Port (贵港港) การนำเข้าวัตถุดิบขนอ่อนเป็ดใช้วิธีการนำเข้าจากท่าเรือฮ่องกงและท่าเรือเซินเจิ้น จากนั้นจึงขนส่งผ่านแม่น้ำเพิร์ลเข้าสู่แม่น้ำซีเจียงไปยังท่าเรือกุ้ยก่าง กระบวนการขนส่งที่ค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งบางครั้งต้องใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน แถมยังมีค่าขนส่งสูง อีกทั้งภาคธุรกิจยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และสภาพอากาศเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งอีกด้วย
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การลดต้นทุน และสนับสนุนการยกระดับและพัฒนาของอุตสาหกรรมขนเป็ดในเมืองกุ้ยก่าง สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC (General Administration of Customs of PR.C.) ได้อนุมัติให้เมืองกุ้ยก่างเป็น “เมืองนำร่องการปฏิรูปด้านการตรวจควบคุมและการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าสำหรับขนอ่อนเป็ดที่ทำความสะอาดแล้วเป็นเมืองแรกของประเทศจีน”
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Guangxi Guigang Jialu Down Products Co.,Ltd (广西贵港市嘉璐羽绒制品有限公司) เป็นผู้นำเข้าขนเป็ดสีขาวที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วภายใต้นโยบายการปฏิรูประบบงานตรวจควบคุมและการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าสำหรับขนอ่อนเป็ดที่ทำความสะอาดแล้วเป็นครั้งแรกในประเทศจีน น้ำหนัก 18.5 ตัน โดยนำเข้าผ่าน “ท่าเรือชินโจว” ของกว่างซี
นโยบายดังกล่าวเป็นการปรับปรุงและยกระดับกระบวนการตรวจควบคุมและการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าขนอ่อนเป็ดที่ทำความสะอาดแล้วให้ง่ายยิ่งขึ้น โดยอาศัยการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างด่านศุลกากรท่าเรือชินโจว (ด่านนำเข้า) กับด่านศุลกากรกุ้ยก่าง (ด่านปลายทาง) โดยเฉพาะในงานตรวจสอบป้องกันและควบคุมความเสี่ยง การควบคุมกระบวนการขนถ่ายสินค้าด้วยระบบอัจฉริยะ และการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้นำเข้า ซึ่งช่วยขยายช่องทาง สร้างโอกาส และลดต้นทุน (ด้านเวลาและค่าใช้จ่าย) ในการนำเข้าขนอ่อนเป็ดให้กับธุรกิจแปรรูปขนเป็ดได้อย่างมาก
คุณหยาง เฉาตง (Yang Chaodong/杨朝东) ผู้จัดการใหญ่บริษัท Guangxi Guigang Jialu Down Products Co.,Ltd ให้ข้อมูลว่า ระยะเวลาตั้งแต่การขนส่งจากต่างประเทศไปถึงเมืองกุ้ยก่าง จนกระทั่งผ่านพิธีการศุลกากร ใช้เวลาเพียง 8 วันเท่านั้น ช่วยประหยัดเวลาเพิ่มขึ้น 17 วันเมื่อเทียบกับการดำเนินพิธีการศุลกากรแบบเดิมที่ผ่านทางฮ่องกง
ประเด็นที่จับตา… ผู้นำเข้าในเมืองกุ้ยก่างมีความหวังอย่างมากกับการใช้ประโยชน์จาก “คลองขนส่งผิงลู่” หรือ Pinglu Canal (平陆运河) เพื่อการนำเข้าวัตถุดิบขนเป็ดที่ทำความสะอาดแล้วจากต่างประเทศในอนาคต โดยคลองขนส่ง ผิงลู่เป็นอภิมหาโปรเจกต์ของจีนเทียบชั้น “คลองปานามา” ที่กำลังก่อสร้างสำหรับเรือบรรทุกสินค้าสัญจรเชื่อมลำน้ำแม่น้ำซีเจียงกับทะลอ่าวเป่ยปู้ที่เมืองชินโจว (คนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย) ในเขตฯ กว่างซีจ้วง
คลองขนส่งผิงลู่ จะสามารถรองรับเรือบรรทุกขนาด 5,000 ตัน มีระยะทาง 135 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าแบบเดิมที่ใช้ท่าเรือในนครกวางโจว สามารถร่นระยะทางได้ราว 560 กิโลเมตร หลังจากเปิดใช้คลองขนส่งดังกล่าวแล้ว ผู้นำเข้าจะสามารถนำเข้าวัตถุดิบขนเป็ดในเส้นทางท่าเรือชินโจว – คลองขนส่งผิงลู่ – นครหนานหนิง – เมืองกุ้ยก่างได้โดยตรง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาขนส่งเพียงครึ่งวันเท่านั้น
หากพิจารณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ขนแข็งชนิดที่ใช้สำหรับยัดไส้ และขนอ่อน (พิกัดศุลกากร 05051.0000) “เขตฯ กว่างซีจ้วง” มีปริมาณการนำเข้ามากที่สุดในประเทศจีน ครองสัดส่วนร้อยละ 26.89 ของทั้งประเทศ (รองลงมา ได้แก่ มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอันฮุย มณฑลกวางตุ้ง และมณฑลเจียงซู) โดย “ประเทศไทย” เป็นแหล่งนำเข้ารายใหญ่อันดับ 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง (รองจากไต้หวัน และเวียดนาม) มูลค่านำเข้า 39.24 ล้านหยวน
การที่เมืองกุ้ยก่างได้รับนโยบาย “เมืองนำร่องการปฏิรูปด้านการตรวจควบคุมและการปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าสำหรับขนอ่อนเป็ดที่ทำความสะอาดแล้ว” ของประเทศจีน ถือเป็นข่าวดีสำหรับภาคธุรกิจส่งออกไทยในการขยายช่องทางการค้าและการใช้ประโยชน์จากโมเดลการค้า “ท่าเรือแหลมฉบัง – ท่าเรือชินโจว – เมืองกุ้ยก่าง” ได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนการขนส่ง ที่สำคัญ จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น
สำหรับภาคธุรกิจไทยที่สนใจจะส่งออกผลิตภัณฑ์ขนเป็ดไปยังประเทศจีน สามารถศึกษารายละเอียดเบื้องต้นได้ที่ https://onestopservice.ditp.go.th/file/24.3.pdf หรือสอบถามไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา :
- https://thaibizchina.com/business-trade-investment/bicnng2024-04-23/
- เครดิตภาพ : scmp.com