เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 สำนักงานศุลกากรนครฉางซาเปิดเผยข้อมูลสถิติการค้ากับต่างประเทศของมณฑลหูหนานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 2.6 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 40,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563
.
ในจำนวนนี้ การส่งออกมีมูลค่ามากกว่า 1.75 แสนล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 33.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 84,800 ล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นับจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของมณฑลหูหนานคงแนวโน้มเติบโตติดต่อกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว
.
สำหรับคู่ค้าที่สำคัญของมณฑลหูหนานยังคงเป็นอาเซียนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมณฑลหูหนานมีมูลค่าการค้ากับคู่ค้าทั้งสองเพิ่มขึ้นในทุกด้านตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้ โดยปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของมณฑลหูหนานยังคงเติบโตด้วยดี ได้แก่
.
1. สินค้านำเข้า-ส่งออก 3 ประเภท ได้แก่ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง สินค้าเกษตร และสินค้า e-Commerce ข้ามแดน ที่เติบโตอย่างมาก โดยหูหนานส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงมูลค่ารวม 22,090 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 สินค้าเกษตรมูลค่า 6,720 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 และมีอัตราการเติบโตในระดับเลขสองหลักติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งหูหนานส่งออกสินค้าเกษตรไปฮ่องกงมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของมณฑล นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังกระตุ้นให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้า e-Commerce ข้ามแดนของมณฑลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 128.3 คิดเป็นมูลค่ารวม 11,177 ล้านหยวน
.
2. เขตการค้าเสรีนำร่องจีนมณฑลหูหนาน ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน 2563 ช่วยส่งเสริมให้การนำเข้า-ส่งออกของมณฑลเติบโตอย่างมีคุณภาพสูง โดยนับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 มีวิสาหกิจจดทะเบียนใหม่ในเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลหูหนานจำนวน 3,698 ราย รวมมูลค่าการลงทุน 1.82 แสนล้านหยวน สามารถดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ได้จำนวน 136 โครงการ และมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวม 97,200 ล้านหยวน ขณะเดียวกัน การก่อตั้งเขตการค้าเสรีในมณฑลหูหนานได้ส่งเสริมให้พื้นที่กำกับดูแลพิเศษของศุลกากรมณฑล เช่น เขตปลอดอากร เขตแปรรูปเพื่อการส่งออก ทำให้ได้รับการพัฒนาด้านการค้าต่างประเทศอย่างจริงจัง ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พื้นที่ในกำกับดูแลพิเศษของศุลกากรมณฑลมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวม 65,680 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.2 และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 25.2 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของมณฑล นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 เขตการค้าเสรีมณฑลหูหนานยังได้ก่อตั้ง “ท่าการค้าดิจิทัลหวงฮัว” (Huanghua Digital Trade Port) ภายในนิคมอุตสาหกรรม e-Commerce ข้ามแดนของเขตปลอดอากรท่าอากาศยานหวงฮัว นครฉางซา นับเป็นเขตอุตสาหกรรมโดดเด่นด้านการค้าดิจิทัลแห่งแรกของเขตการค้าเสรีมณฑลหูหนาน โดยปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวสามารถดึงดูดบริษัทเข้ามาลงทุนได้แล้ว 22 ราย มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้า e-Commerce ข้ามแดนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งยังจัดการฝึกอบรมความรู้ด้าน e-Commerce ข้ามแดนให้แก่บุคลากรไปแล้วกว่า 1,500 คน
.
3. การเพิ่มช่องทางการขนส่งให้มีความหลากหลายขึ้นแม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มณฑลหูหนานได้เปิดเที่ยวบินขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วยการปรับเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าไปแล้ว 708 เที่ยว รวมมูลค่าสินค้า 1,787 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของท่าเรือเฉิงหลิงจี เมืองเยว่หยาง มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ 213,000 TEU เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.54 สำหรับการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟหูหนาน-ยุโรปให้บริการเดินรถ 384 เที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3 รวมมูลค่าสินค้า 1,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
นอกจากนี้ สำนักงานศุลกากรนครฉางซายังได้เปิดเผยข้อมูลนโยบายใหม่เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรของมณฑลหูหนาน ซึ่งนับเป็นการขานรับนโยบาย “ฟื้นฟูชนบท” (rural revitalization) ของรัฐบาลจีน และมีสาระสำคัญมุ่งเน้นการลดต้นทุนการประกอบธุรกิจและอำนวยความสะดวกด้านพิธีศุลกากรสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของมณฑล
.
จะเห็นได้ว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เศรษฐกิจของมณฑลหูหนานมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าไปยังหูหนานได้มากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบด้านภาษีจากเขตการค้าเสรีนำร่องจีนมณฑลหูหนานในการส่งออกสินค้า และช่องทางการขนส่งที่มีหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกสามารถเลือกช่องทางการส่งออกที่เหมาะสมกับสินค้าและความต้องการมากที่สุด ทำให้การส่งออกเป็นไปอย่างง่ายดายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียได้ (perishable goods) อย่างอาหารทะเล ที่ไทยมีความสามารถในการส่งออก รวมไปถึงสินค้าเกษตร ผลไม้เมืองร้อน ที่ผลผลิตภายในประเทศจีนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น มังคุด ทุเรียน หรือส้มโอ ที่ต่างได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง