“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” มีบทบาทสำคัญในสายตาของผู้ค้าผลไม้ไทยในฐานะ “ประตูการค้าผลไม้” ที่มีศักยภาพสูงจากไทยไปจีนเทียบชั้นมณฑลกวางตุ้ง (ทางเรือ) และแซงหน้ามณฑลยูนนาน (ทางบก) ไปแล้ว
.
หลายปีมานี้ การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนผ่านทางบกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะถนน R12 (นครพนม) กับ R9 (มุกดาหาร) ออกจากภาคอีสานไทย โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยเฉพาะ “ด่านโหย่วอี้กวาน” เพราะความได้เปรียบด้านระยะทางที่สั้นและใช้เวลาน้อยกว่าทางเรือ จึงช่วยรักษาคุณภาพและความสดใหม่ของผลไม้ไทยไว้ได้ยาวนานเพื่อกระจายต่อไปยังตลาดในมณฑลอื่นทั่วจีน
.
มากกว่า 1 ใน 3 ของผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนอยู่ที่ด่านโหย่วอี้กวานและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วง 2-3 ปีมานี้ พบปัญหารถบรรทุกผลไม้ไทยติดค้างอยู่บริเวณด่านจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ รวมทั้งข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานบริเวณด่านชายแดนของประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ความแออัดบริเวณด่านทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่สุกงอมก่อนถึงมือผู้บริโภค
.
ในการค้นหาด่านแห่งใหม่เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับระบายผลไม้ไทยจึงเกิดขึ้น โดย “ด่านทางบกตงซิง” (Dongxing Border Gate) เป็นหนึ่งในด่านแห่งใหม่ที่มีศักยภาพของกว่างซี ด้วยพิกัดที่ตั้งติดด่านม๊องก๋าย (Mongcai) ของเวียดนาม ค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากกรุงฮานอยราว 300 กิโลเมตร
.
ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ได้ติดตามและนำเสนอความคืบหน้าเรื่องการผลักดันเปิดด่านตงซิงเพื่อนำเข้าผลไม้ไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ ทำให้เส้นทางการเปิดด่านนำเข้าผลไม้จากไทยไปจีนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้อนุมัติในหลักการให้ “ด่านตงซิง” เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561 แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจริง
.
เงื่อนไขสำคัญของการเปิดด่านทางบกให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้(ไทย) คือ เรื่องการจัดทำความตกลงฉบับใหม่ ให้ “ด่านตงซิง”อยู่ในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเปรียบเสมือน “ใบเบิกทาง” ของผลไม้ไทยที่จะขนส่งทางบกเข้าด่านตงซิง ซึ่งฝ่ายไทยเร่งผลักดันจนสำเร็จ โดยมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563
.
แม้ผลไม้ไทยยังไม่สามารถส่งเข้าด่านตงซิงได้ ด้วยเหตุที่ “ด่านตงซิง” ยังไม่สามารถฝ่าด่านที่ GACC ตั้งไว้หลายต่อหลายครั้ง เนื่องด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องไม้เครื่องมือในระบบตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชสำหรับผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจรับรองจาก GACC จนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ได้ปรากฎรายชื่อของ “พื้นที่ตรวจกักกันผลไม้นำเข้า ณ ด่านทางบกตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุน แห่งที่ 2)” บนเว็บไซต์ GACC ซึ่งหมายความว่า “ด่านตงซิง” ได้ผ่านการตรวจรับจาก GACC และสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้อย่างเป็นทางการแล้ว
.
รู้จัก “ด่านตงซิง แห่งที่ 2” เป็นด่านสากลทางบกที่ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง ตรงข้ามกับด่านม๊องก๋าย จังหวัดกว่างนิงห์ (Quang Ninh) ของเวียดนาม มีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติที่ไหลออกสู่ทะเลอ่าวตังเกี๋ย ในภาพรวม หากเปรียบเทียบกับด่านโหย่วอี้กวานแล้ว นับว่า “ด่านตงซิง แห่งที่ 2” มีความพร้อมมากกว่า กล่าวคือ
.
-
ด้านกายภาพ บริเวณพรมแดนตงซิง-ม๊องก๋ายเป็นพื้นที่ราบ สะพานข้ามแม่น้ำมี 6 ช่องจราจร มีความพร้อมมากกว่าด่านโหย่วอี้กวานที่มีข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นช่องเขาแคบ (ลักษณะคอขวด) และเป็น landlock รวมทั้งการจราจรที่อิ่มตัวบริเวณด่าน ทำให้เกิดปัญหารถบรรทุกแออัด/ตกค้างจนสินค้าสดได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในฤดูผลไม้
-
ด้านระบบโครงสร้างพื้นฐาน สะพานแห่งที่ 2 มีความพร้อมใช้งานแล้ว งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกได้ดำเนินการแล้วเสร็จ รวมถึงอาคารศูนย์อำนวยการกลางสำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) ลานรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สามารถรองรับรถบรรทุกหมุนเวียนเข้า-ออกได้วันละ 2,000 คัน ช่องไม้กั้นรถบรรทุกมีจำนวน 10 ช่อง (ปัจจุบัน ด่านโหย่วอี้กวานสามารถรองรับรถบรรทุกได้วันละ 1,200 คัน และกำลังจะเปิดใช้งานช่องไม้กั้นรถบรรทุก 12 ช่อง) สามารถรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบรรทุกขนาดใหญ่พิเศษ (รถบรรทุกใช้เวลาวิ่งผ่านไม้กั้นแค่ 30 วินาที และรถบรรทุกที่ไม่ต้องสุ่มตรวจใช้เวลาเพียง 10 นาที ก็สามารถวิ่งออกจากเขตอารักขาศุลกากรได้)
-
ด้านระบบตรวจสอบและกักกันโรคพืช ได้ก่อสร้างลานสุ่มตรวจสินค้าแล้วเสร็จ มีความทันสมัย มีเครื่องเอ็กซเรย์ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์เพื่อป้องกันสิ่งปลอมปน มีโกดังควบคุมอุณหภูมิความเย็นไว้รองรับการเก็บผลไม้ มีช่องสำหรับรถบรรทุกเข้าสุ่มตรวจสินค้าทั้งหมด 14 ช่อง มีห้องปฏิบัติการสุ่มตรวจสินค้าเบื้องต้นและห้องปฏิบัติการทดลองสำหรับงานตรวจวิเคราะห์เชิงลึก ห้องรมยา และห้องกำจัดสินค้าที่มีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชกักกัน
.
ทางการจีนให้ความสำคัญกับมาตรฐานการจัดการสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุที่ต้องมีกระบวนการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช ปริมาณสารตกค้าง และกระบวนการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนั้น สวนผลไม้และผู้ส่งออกผลไม้ไทยจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์และยกระดับมาตรฐานคุณภาพของผลไม้ไทยในระบบศุลกากรจีนและในสายตาของผู้บริโภคชาวจีน
.
อย่างไรก็ดี แม้ว่า “ด่านตงซิง แห่งที่ 2” นับเป็นโอกาสในการส่งออกผลไม้ไทยและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น แต่ช่วงแรกยังคงเป็นช่วงการปรับตัว การนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านใหม่อาจต้องประสบปัญหาจากความไม่ลงตัวของระบบบริหารจัดการ ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรต้องเตรียมใจ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย (เหมือนตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นตอนที่ด่านโหย่วอี้กวานเปลี่ยนระบบการผ่านด่านของรถบรรทุกในปีที่ผ่านมา) นอกจากนี้ การส่งผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย ผู้ส่งออกควรคำนึงถึง “ตลาดปลายทาง” ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อใช้ประโยชน์จากด่านได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ไม่ว่าจะทางถนนหรือทางรถไฟก็ตาม
.
ที่มา: https://thaibizchina.com/article/%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%94%e0%b8%b5-%e0%b8%94%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b8%95%e0%b8%87%e0%b8%8b%e0%b8%b4%e0%b8%87/
.
ขอบคุณรูปภาพจาก : http://tap-magazine.net/index.php/2020/05/10/mov47/
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง