ด้วยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปเทศบาลกรุงปักกิ่งเปิดเผยแผนดําเนินโครงการสําคัญ 300 โครงการของกรุงปักกิ่งในปี 2564 ซึ่งจัดอยู่ในช่วงปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) ของกรุงปักกิ่ง แผนดําเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายการลงทุนและส่งเสริมการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมของกรุงปักกิ่ง โดยมุ่งพัฒนาระบบคมนาคมของกรุงปักกิ่งให้เชื่อมต่อไปยังเขต/เมืองอื่น ๆ และ ปรับปรุงข้อบกพร่องของระบบสาธารณสุขและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการและสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมระดับนานาชาติ
.
โครงการสําคัญ 300 โครงการ จะได้รับเงินลงทุนประมาณ 1.3 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 2.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น 3 ด้าน ด้านละ 100 โครงการ โดยแบ่งเป็นการดําเนินโครงการใหม่และโครงการต่อเนื่องจากปีก่อน 120 และ 180 โครงการตามลําดับ
.
- โครงสร้างพื้นฐานหลัก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสําคัญ 100 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟและ ทางด่วน 14 โครงการ ผลักดันระบบการคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างเขตเศรษฐกิจจิง-จิน จี้ (กรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน มณฑลเหอเป่ย) โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองรวม 18 โครงการ รวมถึงการยกระดับโครงสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น พลังงาน น้ำ และการบําบัดของเสีย
- ความเป็นอยู่ของประชากร ยกระดับการดํารงชีวิตของประชากร 100 โครงการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา (1) การศึกษา เช่น สนับสนุนโรงเรียนระดับประถมและมัธยมในเขตเมืองใหม่และพื้นที่ชนบท (2) การบริการสาธารณสุข เช่น พัฒนาบริการรักษาพยาบาลในผู้สูงอายุ (3) ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในเมืองเก่า เช่น โครงการการปรับปรุงชุมชนเก่า และ (4) ระบบนิเวศ เช่น ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในระบบนิเวศ ปรับปรุงคุณภาพป่าไม้ เป็นต้น
- ด้านนวัตกรรมและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูง สนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี 100 โครงการ โดยเร่งสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ระดับชาติในเขตหวยโหรว (Huairou Science City) การสร้างเขตนําร่องและ เขตสาธิตดิจิทัล การขยายการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น ชีวการแพทย์ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการเงินและส่งเสริมการสร้างพื้นที่ทดลองรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น
.
การประกาศ “โครงการสําคัญ 300 โครงการของกรุงปักกิ่ง” เป็นการประกาศแผนฯ รายปีที่เริ่มต้นขึ้น เมื่อปี 2562 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพการดํารงชีวิต และอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยในปี 2563 – 2564 แผนเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวให้ความสําคัญกับการกระตุ้นการลงทุนในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และในปี 2564 มีสัดส่วนโครงการที่มีการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นหลักร้อยละ 50 ขึ้นไป (วัดจากเงินลงทุนของเอกชนที่มากกว่าร้อยละ 70 ของแต่ละโครงการ) จะเห็นได้ว่าแผนดังกล่าวสะท้อนความต่อเนื่องของโครงการที่เป็นนโยบายสําคัญมาก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งกรุงปักกิ่งยังคงผลักดันต่อเนื่อง เช่น เขตเศรษฐกิจจิง จิน-จี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การพัฒนาคุณภาพ บริการการรักษาพยาบาล พัฒนาโรงพยาบาล/สถาบันดูแลผู้สูงอายุ การสร้างฐานอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ความสําคัญกับโครงการภาคการผลิตแบบทันสมัย (high end) จำนวน 37 โครงการ และโครงการส่งเสริมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 23 โครงการ เป็นความพยายามของรัฐบาลปักกิ่งในการรักษาเสถียรภาพการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19
.
จากรายละเอียดของแผนดําเนินโครงการสําคัญ 300 โครงการของกรุงปักกิ่งในปี 64 แสดงให้เห็นว่าปักกิ่งมีความต้องการพัฒนาให้หลายด้าน เช่น การพัฒนาระบบคมนาคม ระบบสาธารณสุข อุตสาหกรรมการผลิตและการบริการ รวมถึงการสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมระดับนานาชาติ ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาทำการศึกษาเพื่อทำการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพตามแนวนโยบายของปักกิ่ง หรือศึกษาเกี่ยวกับการผลิตแบบทันสมัย (high end) เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการผลิตในด้านต่าง ๆ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.hpp.com/en/news/first-prize-in-the-huairou-science-city-beijing-competition-1/