‘ด่านทวิภาคีทางบกอ้ายเตี้ยน’ (Aidian Border Gate) เป็น ‘ด่านน้องใหม่’ ล่าสุดของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่สามารถนำเข้าผลไม้สดได้เป็นครั้งแรก โดยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ผลไม้สดที่ประเดิมนำเข้าผ่านด่านแห่งนี้เป็น “ทุเรียนสดเวียดนาม” น้ำหนัก 19 ตัน มูลค่า 430,000 หยวน
ทั้งนี้ ศูนย์ BIC จะพาทุกท่านไปสำรวจศักยภาพของด่านอ้ายเตี้ยน ซึ่งถือว่าเป็น “ด่านโอกาสของสินค้าผลไม้ไทยในอนาคต” โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
“ด่านอ้ายเตี้ยน” เป็นด่านทวิภาคีทางบกระหว่างจีน-เวียดนาม ตั้งอยู่ในอำเภอหนิงหมิง เมืองฉงจั่ว เขตฯ กว่างซีจ้วง อยู่ตรงข้ามด่านจีมะ (Chima Border Gate) จังหวัดลางเซิน (Lạng Sơn) ด่านแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากนครหนานหนิง 230 กิโลเมตร ห่างจากเมืองระดับอำเภอผิงเสียง 85 กิโลเมตร ห่างจากเมืองระดับอำเภอตงซิง 190 กิโลเมตร / ห่างจากตัวจังหวัดลางเซิน (Lạng Sơn) 34 กิโลเมตร ห่างจากเมืองไฮฟอง 200 กิโลเมตร ห่างจากกรุงฮานอย 180 กิโลเมตร
ภายในด่านอ้ายเตี้ยนแบ่งเป็น (1) ด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) เฉพาะผู้ถือหนังสือเดินทางจีนกับเวียดนามเท่านั้น และ (2) ด่านศุลกากร (Customs) มีช่องทางเข้า-ออกของ Truck Terminal มี 4 ช่องจราจร (เข้า 2 ออก 2) สามารถรองรับรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกได้มากสุดวันละประมาณ 200 คันครั้ง ปัจจุบัน มีรถสินค้าผ่านเข้า-ออกประมาณวันละ 130 คันครั้ง
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2567 ด่านอ้ายเตี้ยนมีปริมาณการนำเข้า-ส่งออกสินค้า 700,500 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่า 38,941 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.66 (YoY) และปัจจุบัน เมืองฉงจั่วกำลังผลักดันแผนงานพัฒนาด่านอ้ายเตี้ยนให้เป็น “ด่านสากลระหว่างประเทศ” ภายในปี 2569 เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่และการค้ากับประเทศที่สาม รวมถึงการขออนุมัติเป็นด่านนำเข้าสินค้าเฉพาะจากประเทศที่สาม อาทิ สมุนไพร ผลไม้สด ธัญพืช สัตว์น้ำมีชีวิตและแช่เย็น และเป็นด่านที่มีฟังก์ชันครบวงจรทั้งการค้า การแปรรูป โลจิสติกส์ คลังสินค้า และการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เมืองฉงจั่วกำลังผลักดันแผนงานขยายพื้นที่เปิดสู่ภายนอกไปยัง “ช่องทางขนส่งสินค้าน่าฮู” (Nahu Channel/那呼通道) ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งด่านอ้ายเตี้ยนในปัจจุบันราว 2 กิโลเมตร โดย “ช่องทางขนส่งสินค้าน่าฮู” จะทำหน้าที่เป็นด่านศุลกากร โดย Truck Terminal มีช่องทางเข้า-ออก 14 ช่อง (7 เข้า 7 ออก) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าด่านโหย่วอี้กวานที่มี 16 ช่อง (6 เข้า 6 ออก) ลานตรวจสินค้าที่มีช่องจอดรถบรรทุก 60 ช่อง รวมถึงระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ครบครัน ขณะที่ด่านอ้ายเตี้ยนในปัจจุบันจะเป็นจุดให้บริการด่านตรวจคนเข้าเมืองเท่านั้น
สำหรับการนำเข้า “ผลไม้สด” ปรากฏชื่อของ “ด่านอ้ายเตี้ยน” ในบัญชีรายชื่อ “สถานที่ตรวจสอบและควบคุมเฉพาะสำหรับผลไม้นำเข้า” บนเว็บไซต์ของสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs of the People’s Republic of China: GACC) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ทำให้ด่านแห่งนี้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการนำเข้าผลไม้สดจาก ‘ประเทศเพื่อนบ้าน’ ได้
ภายในบริเวณอาคาร “ลานตรวจสินค้าผลไม้” มีช่องจอดรถบรรทุกทั้งหมด 10 ช่อง มีอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการตรวจแมลงศัตรูพืชในผลไม้ ห้องควบคุมอุณหภูมิความเย็น (ปรับอุณหภูมิได้ต่ำสุด -20 องศาเซลเซียส) และอุปกรณ์ทันสมัยที่ใช้สนับสนุนงานตรวจสอบผลไม้ผ่านระบบทางไกล บริเวณอาคารชั้น 2 มีห้องควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อติดตามและดูแลเหตุการณ์/สถานการณ์ทั้งหมดภายในบริเวณด่านอ้ายเตี้ยน
ข้อได้เปรียบของด่านอ้ายเตี้ยน เป็นเรื่องของ “ระยะทางขนส่ง” ที่ใกล้เคียงกับด่านโหย่วอี้กวาน แต่ระยะทางสั้นกว่าด่านนำเข้าผลไม้แห่งอื่นในกว่างซี ไม่ว่าจะเป็นด่านสุยโข่ว (เมืองฉงจั่ว) ด่านหลงปัง (เมืองไป่เซ่อ) และด่านตงซิง (เมืองฝางเฉิงก่ง)
หมายเหต การขนส่งทางรถไฟ : รถบรรทุกเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าโดยลำเลียงขึ้นรถไฟที่ “สถานีรถไฟลางเซิน” จ. ลางเซิน ประเทศเวียดนาม เพื่อลำเลียงเข้า “สถานีรถไฟผิงเสียง” เมืองระดับอำเภอผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพในบริเวณพื้นที่โดยรอบของด่านอ้ายเตี้ยนในปัจจุบัน แม้ว่าลานสินค้ามีขนาดไม่ใหญ่ มีช่องตรวจเพียง 10 ช่อง ถนนสั้น ๆ ที่เชื่อมจากด่านไปยังทางหลวงพิเศษจะค่อนข้างคับแคบและมีพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยริมสองข้างทาง แต่ “ด่านอ้ายเตี้ยน” จะมีบทบาทสำคัญในการเป็น ‘ช่องทางเสริม’ ที่ช่วยระบายความแออัดของด่านโหย่วอี้กวานได้เป็นอย่างดี
ประเด็นที่ผู้ส่งออกผลไม้ไทยให้ความสนใจว่า “ผลไม้ไทยส่งออกไปด่านอ้ายเตี้ยนได้หรือไม่” คำตอบคือ —— ยังไม่ได้ ณ ขณะนี้ แต่เป็น “โอกาส” สำหรับผลไม้ไทยในอนาคต เนื่องจาก “ด่านอ้ายเตี้ยน” ยังติดเงื่อนไขหลัก 2 ด้าน คือ
(1) ยังไม่ได้เป็น “ด่านสากลระหว่างประเทศ” ซึ่งรัฐบาลกว่างซีกับจังหวัดลางเซินของเวียดนามกำลังเร่งผลักดันร่วมกันอยู่ในขณะนี้ และ (2) ยังไม่ได้เป็นด่านใน “พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิงพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ร่วมกับฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว (ดูแลพื้นที่เขตฯ กว่างซีจ้วง) ในการผลักดันการเจราจาระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงาน GACC เพื่อเพิ่ม “ด่านอ้ายเตี้ยน” เป็นจุดนำเข้าระหว่างสองฝ่าย ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทยได้มากยิ่งขึ้น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.news.cn (วันที่ 21 ตุลาคม 2567)
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (วันที่ 19 ตุลาคม 2567)
เว็บไซต์ www.customs.gov.cn
เว็บไซต์ www.chongzuo.gov.cn
ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง/ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์