เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 เว็บไซต์สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้เผยแพร่ข่าวการลงนามแผนปฏิบัติการว่าด้วยการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมกัน (Manual Recognition Arrangement: MRA) สำหรับผู้ประกอบการระดับมาตรฐาน AEO (Authorized Economic Operator: AEO) เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการค้าที่เกี่ยวข้อง
การลงนามแผนปฏิบัติการฯ ข้างต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาจัดทำความตำลง MRA โดยมีกำหนดว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถบรรลุผลและลงนามความตกลง MRA ภายในเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีความท้าทาย คือ การปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบ/เปรียบเทียบมาตรฐานศุลกากร รวมถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ไทยเป็นประเทศแรกของกลุ่ม RCEP ที่ลงนามแผนปฏิบัติการฯ ร่วมกับทางการจีนนับตั้งแต่ คตล. RCEP เริ่มใช้บังคับ
การเจรจาความตกลง MRA มีกลุ่มภาคเอกชนและผู้ประกอบเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน AEO ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองของประเทศสมาชิกภายใต้องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization) ที่จะรับรองบริษัทที่ปฏิบัติตามกฎหมาย น่าเชื่อถือ และมีความปลอดภัยระดับสูง ซึ่งการจัดทำความตกลง MRA จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้ การอำนวยความสะดวกดังกล่าวยังคงมีปัจจัยพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ (1) รูปแบบของสิทธิพิเศษใน MRA ของไทย-จีน ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และ (2) นโยบายและการบริหารจัดการศุลกากรภายในประเทศ ตัวอย่าง เช่น การส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ไทยไปจีนยังคงต้องพิจารณาถึงความเข้มข้นของมาตรการตรวจ SPS และสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การลงนามแผนปฏิบัติการฯ ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกในหลายๆ ด้าน เช่น (1) เป็นโอกาสดีสำหรับไทยในการรักษาพลวัตรและช่องทางการประสานงาน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรทั้งสองประเทศ (2) การยกระดับมาตรฐานศุลกากรทั้งสองประเทศให้สอดคล้องกัน (3) เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า เป็นต้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณารายละเอียดข้อบทของ MRA เพื่อให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.thailandplus.tv/archives/505453