เสฉวนเร่งพัฒนาระบบขนส่งไร้คนขับ “จากบนฟ้าสู่ภาคพื้น” เชื่อมอากาศ-ภาคพื้นดินสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนของจีนได้เร่งส่งเสริมการทดลองใช้บริการจัดส่งแบบไร้คนขับในภาคโลจิสติกส์ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการบินต่ำ โดยเน้นการจัดส่งผ่านทั้งโดรนและรถไร้คนขับ เพื่อสร้างระบบขนส่งด่วนที่ผสานการทำงานระหว่างอากาศและภาคพื้นดินอย่างมีประสิทธิภาพ หลายพื้นที่ในเสฉวนได้เริ่มนำระบบดังกล่าวมาใช้จริง และจากการลงพื้นที่สำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่า แม้ระบบนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงเผชิญความท้าทายในด้านเทคโนโลยี การประสานงาน และมาตรการความปลอดภัยที่ต้องการการพัฒนาและแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป
เช้าวันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ จุดบริการในหมู่บ้านไหลหลง เขตหลงเฉวียนอี้ นครเฉิงตู พนักงานกำลังบรรจุพัสดุลงในรถจัดส่งไร้คนขับ พร้อมควบคุมการออกเดินทางผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้รถเคลื่อนที่อย่างปลอดภัยและแม่นยำตามเส้นทางที่ตั้งไว้ โดยนายมู่ ชุนซง ผู้จัดการสถานีระบุว่า “ใช้งานง่าย ปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่ง” พร้อมเผยว่าพื้นที่นี้มีการติดตั้งรถไร้คนขับแล้ว 17 คัน ซึ่งแต่ละคันมีความจุราว 3 ลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมรัศมี 10 กิโลเมตร ขับขี่อัตโนมัติระดับ L4 และวิ่งได้ไกลถึง 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ด้านการจัดส่งทางอากาศ โดรนก็ถูกนำมาใช้ในหลายพื้นที่ อาทิ อาป้า พานจื่อฮวา เหมยซาน และจื้อกง โดยบางพื้นที่ได้เปิดเส้นทางจัดส่งทางอากาศไปยังพื้นที่ชนบทแล้ว ในเขตซินตูของนครเฉิงตู ระบบโดรนและรถไร้คนขับยังทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ เช่น จากศูนย์โลจิสติกส์ที่ท่าเรือรถไฟนานาชาติในเขตชิงไปเจียง โดรนจะส่งพัสดุไปยังศูนย์คัดแยก ก่อนส่งต่อถึงมือลูกค้าด้วยรถไร้คนขับ ใช้เวลารวมเพียง 22 นาที และสามารถส่งของถึงลูกค้าภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งยังประหยัดต้นทุนกว่าการจัดส่งแบบดั้งเดิมภายในเมืองอย่างชัดเจน
แม้การลงทุนในเทคโนโลยีจัดส่งไร้คนขับจะมีต้นทุนเริ่มต้นสูง แต่ผู้ประกอบการเชื่อว่าในระยะยาวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคุ้มค่าได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น โดรน 1 ลำมีต้นทุนราว 270,000 หยวน หากคิดค่าบริการจัดส่งครั้งละ 40 หยวน เพียงจัดส่งวันละ 3 ครั้งก็สามารถคืนทุนได้ในเวลาอันสั้น ส่วนในกรณีของรถไร้คนขับ เมื่อเปรียบเทียบกับรถขนส่งทั่วไปที่มีค่าใช้จ่ายรวมถึงค่าจ้างคนขับราว 10,000 หยวนต่อเดือน รถไร้คนขับขนาด 5 ลูกบาศก์เมตรที่สามารถจัดส่งพัสดุได้ 500 ชิ้นต่อรอบ กลับมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเพียง 2,580 หยวนต่อเดือน และแม้จะใช้พร้อมกันถึง 3 คัน ก็ยังคุ้มค่ากว่าการใช้รถแบบดั้งเดิมอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังเปิดเผยว่า ปริมาณพัสดุที่จัดส่งในแต่ละเดือนมีมากกว่า 100,000 ชิ้น โดยระบบไร้คนขับสามารถลดเวลาในการจัดส่งได้ราว 20 นาทีต่อรอบ เพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมได้มากถึงร้อยละ 40


แม้ระบบจัดส่งไร้คนขับจะพัฒนาไปมาก แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและประสบกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศเลวร้าย เช่น ฝนตกหนักหรือหมอกหนา รวมถึงข้อจำกัดด้านระยะทางและน้ำหนักในการขนส่งของโดรน ขณะที่ต้นทุนเริ่มต้นยังสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีปริมาณพัสดุน้อย ทำให้ไม่สามารถกระจายการใช้งานในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในด้านการบริหารจัดการ ระบบยังต้องผ่านการขออนุญาตจากหลายหน่วยงาน เช่น การบินพลเรือนและตำรวจ ซึ่งกระบวนการยังไม่คล่องตัว ขณะเดียวกัน ความปลอดภัยก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เนื่องจากหลายเมืองยังไม่มีเลนเฉพาะสำหรับรถไร้คนขับ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ โดยเคยมีกรณีรถยนต์ส่วนตัวเฉี่ยวชนรถไร้คนขับแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่พร้อมและอัตราการใช้งานที่ต่ำ ก็เป็นอุปสรรคต่อการขยายระบบในวงกว้าง
เลขาธิการสมาคมไปรษณีย์ด่วนพิเศษมณฑลเสฉวนเสนอว่า ควรเร่งดำเนินการใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ขยายรูปแบบบริการให้ครอบคลุมถึงผู้บริโภคทั่วไป (B2C) มากขึ้น ไม่จำกัดแค่กลุ่มธุรกิจ (B2B) 2) ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านการใช้งานระยะไกล ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม และระบบอัจฉริยะ และ 3) ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการ เช่น การให้เงินอุดหนุน การจัดระดับสิทธิการใช้ถนน การเปิดเขตการบิน รวมถึงการสร้างการรับรู้และยอมรับในสังคม เพื่อวางรากฐานสำหรับการเติบโตในระยะยาว

การพัฒนาและทดลองใช้ระบบจัดส่งแบบไร้คนขับในมณฑลเสฉวนของจีน ถือเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่สามารถต่อยอดแนวทางพัฒนาโลจิสติกส์อัจฉริยะของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในบริบทของการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งให้รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วในยุคดิจิทัล ขณะที่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ เช่น ความแออัดของระบบขนส่งในเมืองใหญ่ การขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ และต้นทุนการขนส่งที่ผันผวนตามราคาพลังงาน การนำเทคโนโลยีจัดส่งไร้คนขับเข้ามาทดลองใช้งานในบางพื้นที่ เช่น เขตเมืองที่มีความต้องการจัดส่งด่วน หรือเมืองท่องเที่ยวที่มีความหนาแน่นของการบริโภคสูง จะช่วยลดภาระด้านแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และลดต้นทุนในระยะยาว
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่หลากหลาย ซึ่งเอื้อต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างสร้างสรรค์ เช่น การใช้โดรนและรถไร้คนขับขนส่งผลผลิตทางการเกษตรหรือสินค้าสดที่ต้องถึงมือผู้บริโภคภายในเวลาจำกัด ย่อมช่วยยกระดับคุณภาพและมูลค่าสินค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พื้นที่จอดขึ้น-ลงของโดรน เลนเฉพาะสำหรับรถไร้คนขับ ระบบควบคุมความปลอดภัย และกลไกความร่วมมือข้ามหน่วยงาน ซึ่งยังขาดการวางระบบอย่างเป็นทางการในไทย
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู