เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 สำนังงานสถิติเเห่งชาติจีน (NBS) เผยภาวะเศรษฐกิจในปี 2564 ว่ามีมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 114.4 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 8.1% จากปี 2563 ผ่านเเรงขับเคลื่อน 3 อันดับเเรก ได้เเก่ การบริโภค การลงทุน เเละการส่งออก คิดเป็นสัดส่วน 65.4% 13.7% เเละ 20.9% ตามลำดับ
.
โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ถึง 4 ของปี 2564 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีเเนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ อยู่ที่ 18.3% 7.9% 4.9% เเละ 4% ตามลำดับ ซึ่งอัตราการเติบโตเฉลี่ยสองปีของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ 5.1% ยังนับว่าต่ำกว่า 6% ในปี 2562 เเสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับช่วงก่อนการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19
.
เเต่ที่น่าสนใจ คือ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 จีนมีมูลค่าการทำธุรกรรมผ่านเงินหยวนดิจิทัล หรือ E-CNY อยู่ที่ 87,565 ล้านหยวน มีจำนวนผู้ใช้งานกระเป๋าเงินส่วนบุคคลของ E-CNY รวมทั้งหมด 261 ล้านผู้ใช้งาน เเละมีจำนวนพื้นที่ทดลองการใช้งานมากกว่า 8.09 ล้านเเห่ง โดยในปัจจุบันจีนมีพื้นที่ทดลองการใช้งาน E-CNY ในเมืองเซิยเจิ้น เมืองซูโจว นครเฉิงตู เขตเมืองใหม่สงอัน นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลไห่หนาน เเละพื้นที่การจัดงานเเข่งขันมหกรรมโอลิมปิดฤดูหนาวปี 2022 เป็นต้น ทั้งนี้ฝ่ายตลาดการเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า จะเดินหน้าขยายพื้นที่ทดลองการใช้งาน E-CNY รวมถึงส่งเสริมการวิจัยเเละพัฒนา E-CNY เพื่อปรับปรุง E-CNY ให้รองรับการทำธุรกรรมในชีวิตของประชาชนให้มากขึ้น
.
เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของจีน ประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย เป็น 1 ใน 3 คลัสเตอร์เมืองขนาดใหญ่ของจีน นอกเหนือจากพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า เขต YRD มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย – จีนมาก โดยเขต YRD มีการค้ากับไทยคิดเป็นเกือบร้อยละ 38 ของการค้าไทย – จีนในภาพรวม ขณะที่ 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางสู่ประเทศไทยก็มาจากภูมิภาค YRD ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าความท้าทายจากพื้นที่ YRD ก็จะเป็นชนวนไปสู่ความท้าทายเต็มรูปแบบที่จะต้องเผชิญจากจีนทั้งประเทศในอนาคตเช่นกัน
.
ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมักมองเซี่ยงไฮ้เป็น “ประตูเบิกทางเข้าสู่จีน” เนื่องจากผู้บริโภคมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง เหมาะกับการเป็นพื้นที่ทดลองสินค้าจากไทย ซึ่งมักจะเริ่มต้นจากการเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-commerce ชื่อดังในจีน เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดตั้งบริษัทอย่างเต็มรูปแบบ โดยการเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-commerce ในจีนของผู้ประกอบการไทยสามารถทำได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) การดำเนินการด้วยตนเอง และ (2) การอาศัยนอมินีในจีนช่วยดำเนินการแทน ทั้งนี้ หากในอนาคตเมื่อจีนได้ใช้ดิจิทัลหยวนอย่างแพร่หลายแล้ว ธุรกิจไทยที่อาศัยนอมินีในจีนจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากนอมินีจะไม่สามารถโอนเงินให้ฝ่ายไทยผ่านระบบ “โพยก๊วน” (ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย) ดังที่นิยมทำกันในปัจจุบันได้อีกต่อไป จึงนับเป็นความท้าทายที่ธุรกิจไทยจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์ม E-commerce ในจีนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนที่จะติดปัญหาการโอนเงินเมื่อดิจิทัลหยวนถูกใช้งานจริงจังในอนาคต
.
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์