ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดยาสมุนไพรในประเทศจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดยาสมุนไพร และทำให้ศาสตร์การแพทย์ทางเลือก หรือ Alternative Medicine หวนคืนสู่สายตาของผู้คนในฐานะตัวเลือกที่ช่วยรักษาและฟื้นฟูอาการ “Long COVID”
ชาวจีนมีค่านิยมและพฤติกรรมการใช้ยาสมุนไพรในการดูแลสุขภาพและรักษาโรค โดย ‘ยาจีน สำเร็จรูป’ ยังคงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยชาวจีน โดยเชื่อว่ายาสมุนไพรมีความปลอดภัย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย นอกจากนี้ ชาวจีนยังใช้ยาสมุนไพรจีนบางชนิดเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อบำรุง สุขภาพและเพิ่มรสชาติให้กับอาหารอีกด้วย
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงขึ้นชื่อว่าเป็น “คลังสมุนไพรธรรมชาติ” และ “แหล่งกำเนิดยาสมุนไพรจีน” จากสถิติพบว่า กว่างซีมีแหล่งทรัพยากรสมุนไพรมากถึง 7,506 ชนิด ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ กล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในมณฑลที่มีทรัพยากรวัตถุดิบยาสมุนไพรที่สมบูรณ์ของจีน กว่างซีมีพืชสมุนไพรท้องถิ่นที่เป็น ‘อัตลักษณ์กว่างซี’ จำนวน 31ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กระดูกเกลี้ยง (Sarcandra Glabra) โสมเถียนชี (บ้างก็เรียกโสมซานชี) และเป็นพืชสมุนไพรชนิดเดียวกันที่ให้สรรพคุณทางยาชั้นเลิศ (เมื่อเทียบกับการปลูกในพื้นที่อื่น) จำนวน 10 ชนิด เช่น อบเชย หล่อฮังก๊วย โป๊กกั๊ก หวายเลือดไก่ (Spatholobi Caulis) กำจัดหน่วย (Zanthoxylum nitidum)
นอกจากนี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ถือเป็น Gateway ของการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบยาสมุนไพรกับประเทศสมาชิกอาเซียน ในแต่ละปีการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรจีนผ่านด่านในกว่างซีมีสัดส่วนกว่า 60%-70% ของประเทศจีน ปัจจุบัน กว่างซีจ้วงมีด่านที่ได้รับอนุมัติให้นำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพรได้ 5 ด่าน ได้แก่ ด่านหนานหนิง และด่านทางบกผิงเสียง ด่านทางบกตงซิง ด่านทางบกหลงปัง และด่านทางบกอ้ายเตี้ยน
เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงของแพทย์แผนจีนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแพทย์ของชนกลุ่มน้อยจ้วงและเย้า เขตฯ กว่างซีจ้วงได้จัดทำ แผนการดำเนินงานในโครงการสำคัญว่าด้วยการพลิกฟื้นและพัฒนาการแพทย์แผนจีนและการแพทย์แผนชนชาติจ้วงและเย้า ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ระบุถึง การส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือที่เปิดสู่ภายนอกด้านการแพทย์และยาสมุนไพรจีน โดยเฉพาะกับชาติสมาชิกอาเซียน ครอบคลุมทั้งด้านการเพาะพันธุ์ การศึกษาวิจัย และการค้า นอกจากนี้ ยังมีการเร่งผลักดันการก่อสร้างฐานส่งออกการบริการยาสมุนไพรจีนแห่งชาติของมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนกว่างซี (National Traditional Chinese Medicine Export Service Base of Guangxi University of Chinese Medicine) ทั้งในด้านบุคลากร การบริการทางการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม เทคโนโลยีการแพทย์ และการรักษาผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการผลักดันกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและข้อกำหนดทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพระหว่างกว่างซีกับอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการยอมรับร่วมกันในด้านยาแผนโบราณจีน – อาเซียน
จากข้อมูล พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบยาสมุนไพร 9,229 ตัน เพิ่มขึ้น 71.6% ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 87.857 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 115.7% (YoY) ส่วนมากนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา รวมถึงไทยด้วย
โอกาสของผู้ประกอบการไทย
ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่กําหนดให้ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมีการพัฒนาหลักสูตรการแพทย์แผนจีนแล้วหลายแห่ง หน่วยงานและองค์กรทุกภาคส่วนในไทยที่มีความสนใจในเรื่องการแพทย์และพืชสมุนไพรจีน สามารถแสวงหาช่องทางการพัฒนาความร่วมมือกับจีน เช่น ร่วมกันพัฒนาสูตรยาที่มีส่วนผสมของสมุนไพรจีนและไทย แปรรูปสมุนไพรให้เป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกาย และนำสมุนไพรมาต่อยอดเป็นเครื่องสำอาง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ และศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
อ้างอิง: