นอกจากความสําเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (2559-2563) แล้ว มณฑลฯ ยังได้เร่งพัฒนาศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระตุ้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Ecological Industries) 10 ประการ ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการอนุรักษ์พลังงานและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 2. อุตสาหกรรมการผลิตสีเขียว 3. อุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด 4. การเกษตรหมุนเวียน 5. อุตสาหกรรมยาสมุนไพรจีน 6. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 7. อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ 8. รูปแบบอุตสาหกรรมที่ผสมผสานระหว่างการทหารและพลเรือน 9. อุตสาหกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 10. อุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
.
โดยในปี 2560 มณฑลฯ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ให้เป็นที่ตั้งเขตสาธิตนวัตกรรมแห่งชาติ (National Self-independent Innovation Demonstration Zones) 2 แห่ง ได้แก่ เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค (High-tech Industrial Development Zone) นครหลานโจว และเขตสาธิตนวัตกรรมแห่งชาติเมืองไป๋หยิน (Lanzhou Baiyin National Independent Innovation Demonstration Zone) นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2562 มณฑลฯ ได้ร่วมกับมณฑลส่านซี ภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนาเขตสาธิตนวัตกรรมแห่งชาติ โดยให้เขตพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงนครซีอาน (Xi’an Hi-tech Industrial Development Zone) ช่วยส่งเสริมและพัฒนา ศักยภาพของเขตสาธิตฯ เมืองไป๋หยิน ในมณฑลกานซู ให้สามารถเป็นศูนย์บ่มเพาะ (Incubator) หลักด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของมณฑลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มการผลิตโลหะ เคมีภัณฑ์ พลังงาน และวัสดุใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ รัฐบาลมณฑลฯ ยังตั้งเป้าหมายให้มณฑลฯ เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์รักษาโรคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการผลิตอุปกรณ์เครื่องฉายรังสีด้วยเทคโนโลยี Heavy lon Therapy
.
โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC Central Committee) และรัฐบาลจีน ได้เผยแพร่ แนวทางว่าด้วยการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกยุคใหม่ (Guidelines on Advancing the Development of Western Regions in the New Era) เพื่อพัฒนาบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคตะวันตก ให้ทัดเทียมกับภูมิภาคตะวันออก และให้เป็นสังคมนิยมสมัยใหม่ (Socialist Modernisation) ภายในปี 2578 โดยในระยะแรกจะเน้นพัฒนานวัตกรรมที่มีคุณภาพสูง โดยมุ่งเอาชนะศึก 3 ด้าน (3 Tough Battles) ได้แก่ การปรับปรุงขีดความสามารถด้านนวัตกรรม การส่งเสริมให้เกิดระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และการบริหารจัดการแหล่งพลังงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ
.
สําหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (2564-2568) ซึ่งจะบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2564 มณฑลฯ จะเร่งเดินหน้าพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และกระตุ้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าจะมี opening-up เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างภูมิภาค อาทิ การเสริมสร้างความร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ โดยส่งเสริมและยกระดับ การประสานงานระหว่างนครเฉิงตู นครฉงชิ่ง กับเมืองเศรษฐกิจที่ราบกวนจง (Guanzhong Plain City Group) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภูมิภาคตะวันตก โดยที่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 จะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าจะเป็นประเทศ carbon neutral ภายในปี ค.ศ. 2060 จึงคาดว่ารัฐบาลกลาง จะมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมที่อนุรักษ์พลังงานและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งมณฑลฯ ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรับแสงแดดได้สูงถึง 3,000 ชม./ปี รวมถึงมีพายุทะเลทรายหลายครั้งต่อปี จึงส่งผลดีต่อการนําพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา มณฑลฯ มีปริมาณการสูญเปล่าของไฟฟ้าจากพลังงานลมมากที่สุดในประเทศ ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก over supply และระบบเชื่อมโยงไฟฟ้า (grid system) ที่ไม่มีประสิทธิภาพ
.
โดยภาคเอกชนในประเทศไทยเองก็ได้มีการร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนของมลฑลกานซู เช่น การที่บริษัทถังหมิง กรีนเฮลท์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทยกับบริษัทผลิตยารักษาโรคหลานโจวฝอถือ กับคณะกรรมการวางแผนครอบครัวและสาธารณสุขมณฑลกานซู ร่วมกันจัดตั้งศูนย์การแพทย์แผนจีน “Qihuang การแพทย์แผนจีนประจําประเทศไทย” ณ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น โดยก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั้งสองหน่วยงานได้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการสํารวจและศึกษาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการพัฒนาทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับมลฑลกานซู
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซีอาน