“สาธารณรัฐชิลี” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ประเทศชิลี” ตั้งอยู่ในภูมิภาคลาตินอเมริกา มีเมืองหลวง คือ กรุงซันติอาโก มีประชากรประมาณขนาดย่อมที่ 18 ล้านคน ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามีขนาดยาวที่สุดในโลกแล้ว ยังถือเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงในฐานะประเทศสมาชิกของกลุ่มประเทศ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่ประมาณ 24,190 ดอลลาร์สหรัฐ/คน ส่งผลให้ชิลีเป็นอีกตลาดต่างประเทศที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามอง
[su_spacer]
ชิลีเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับการค้าและการลงทุน เนื่องจากธนาคารโลกได้จัดให้ชิลีเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Doing Business 2020) ในอันดับที่ 59 ของโลกจาก 190 ประเทศ มีดัชนีความโปร่งใสที่สูงที่สุดและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคลาตินอเมริกา และ World Economic Forum (Global Competitiveness Index) ปี 2562 และ 2563 ได้จัดให้ชิลีอยู่ในอันดับที่ 33 จากทั้งหมด 141 ในฐานะประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี IT อย่างกว้างขวาง แรงงานมีทักษะและมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ชิลียังได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพแรงงาน (labor productivity) สูงที่สุดในภูมิภาคด้วย
[su_spacer]
ชิลีเป็นประเทศที่มีความเสรีในทางเศรษฐกิจสูง เห็นได้จากการที่ชิลีมีความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) มากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และในปี 2562 The American Heritage Foundation ผู้จัดอันดับดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ได้จัดอันดับให้ชิลีเป็นประเทศที่มีการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 18 จากทั้งหมด 180 ประเทศ สอดคล้องกับนโยบายเปิดเสรีและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในเกือบ ทุกสาขาของรัฐบาลชิลี โดยไม่มีการจำกัดขอบเขตการถือหุ้นของนักธุรกิจต่างชาติในภาคการผลิตและการบริการ กล่าวคือ นักลงทุนต่างประเทศสามารถถือหุ้นได้ 100% และไม่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาในการถือครองทรัพย์สิน รวมทั้งการมีนโยบายส่งเสริมให้ชิลีเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจของภูมิภาคผ่านการดึงดูดและส่งเสริม Startup ให้เข้าไปเริ่มต้นทำธุรกิจในประเทศ และการให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ภาคเกษตร และภาคบริการ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงิน E-commerce การผลิตและแปรรูปอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม
[su_spacer]
นอกจากนี้ ชิลีมีระบบการคมนาคมที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับประเทศสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ครอบคลุมเกือบทุกประเทศในภูมิภาค ชิลีจึงมีศักยภาพสูงในการเป็นประตูการค้าเชื่อมต่อระหว่างสินค้าที่จำหน่ายในประเทศกับตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา อีกทั้งยังมีอัตราภาษีธุรกิจที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคโดยอยู่ที่ประมาณ 25% และมีความตกลงยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้มาใช้เป็นฐานคำนวณเสียภาษีมากกว่า 1 ครั้ง กับไทยและอีก 32 ประเทศทั่วโลก จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการใช้ชิลีเป็นฐานประกอบการในการเจาะตลาดเข้าสู่ภูมิภาคลาตินอเมริกา
[su_spacer]
แม้ชิลีจะมีประชากรเพียงประมาณ 18 ล้านคนทั่วประเทศ และมีอัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค แต่เป็นประชากรชิลีเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง และเศรษฐกิจของประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าจากไทยหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบที่ใช้การผลิตและสินค้าสำเร็จรูปเพื่ออุปโภคบริโภค อาทิ อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้แปรรูป อัญมณี และเครื่องประดับ และเครื่องเรือน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงความต้องการของสินค้าให้ดี เพื่อจะได้นำสินค้าออกมาจำหน่ายในจำนวนที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การจะเข้าทำตลาดในชิลียังต้องเข้าใจวัฒนธรรมของชิลี ซึ่งต้องพึ่งพาเครือข่ายหรือคนรู้จัก ผู้ประกอบการไทยจึงต้องหาพันธมิตรในประเทศชิลี (local partner) ในการเข้าไปทำธุรกิจในลักษณะการร่วมทุน (joint venture) เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปทำธุรกิจในชิลีได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เนื่องจากชิลีใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก ผู้ประกอบการไทยจึงอาจจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสเปนในการประกอบธุรกิจที่ชิลีด้วย
[su_spacer]
ที่มา
http://documents.worldbank.org/curated/en/688761571934946384/pdf/Doing-Business-2020-Comparing-Business-Regulation-in-190-Economies.pdf
[su_spacer]
โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก