ปัจจุบัน ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก หลายประเทศจึงพยายามก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยชิลีก็เป็นประเทศหนึ่งที่มุ่งการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่าน 3 นโยบายหลัก ได้แก่ (1) นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (2) นโยบาย Green Hydrogen และ (3) นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
.
1. นโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
เป็นหนึ่งในนโยบายที่ชิลีให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาลตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและลดความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติของโลก ตลอดจนเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายในการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยภายใต้แผนยุทธศาสตร์พลังงานปี ค.ศ. 2050 รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้ชิลีสามารถผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้ร้อยละ 60 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2035 และเป็นร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2050 เน้นการผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ชิลีมีศักยภาพสูง ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยชิลีมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 1,800 GW ซึ่งมากกว่าความต้องการใช้พลังงานในประเทศถึง 70 เท่า ในขณะเดียวกันรัฐบาลชิลีให้ความสำคัญกับการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลด้วย โดยตั้งเป้าหมายปิดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน 11 แห่ง ในประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2024 และยกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหินในประเทศทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2040
.
2. นโยบาย Green Hydrogen
รัฐบาลชิลีได้เผยแพร่แผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (National Green Hydrogen Strategy) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อสนับสนุนและต่อยอดนโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยมุ่งส่งเสริมให้มีการนำพลังงานไฮโดรเจนที่ผลิตจากแหล่งพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิล ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจสาขาต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง การผลิตแอมโมเนียและปุ๋ยสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร และการผลิตหรือกลั่นสารเคมีเพื่อใช้ในวัสดุแปรรูปต่าง ๆ เป็นต้น มีวัตถุประสงค์ในภาพรวมเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิลและน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศส่งเสริมให้ชิลีเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกพลังงานทดแทน และเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ทั้งนี้ รายงานศึกษา ความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนสีเขียวในชิลี จัดทำโดยบริษัท McKinsey ระบุว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 อุตสาหกรรมดังกล่าวในชิลีจะสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้มากถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าตลาดในประเทศสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
3. นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
รัฐบาลชิลีอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี ค.ศ. 2020 – 2040 (National Roadmap for Circular Economy for a Country with Zero Waste 2020 – 2040) โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ กำหนดวิสัยทัศน์สำหรับปี ค.ศ. 2040 ไว้ว่า เพื่อให้ชิลีเป็นประเทศที่ปราศจากขยะและของเสีย ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นธรรม และประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านการรักษาสภาพแวดล้อมและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงานภายใต้ 6 เสาหลัก ได้แก่ (1) Culture ส่งเสริมความตระหนักรู้และวัฒนธรรมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (2) Regeneration ส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมผ่านการนำของเสียและขยะกลับมาใช้ใหม่ลดการใช้ และกำจัดวัสดุ/สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบรรทัดฐานในการวางผังเมือง และใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (3) Innovation ส่งเสริมการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน สร้างบรรทัดฐานการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ลดปริมาณขยะและมีระบบหมุนเวียน นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (4) Local Development ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนที่สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น (5) Opportunities ส่งเสริมการสร้างอาชีพและโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแก่ SMEs ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบ การบริหารจัดการขยะ การผลิตซ้ำ (remanufacture) โลจิสติกส์และการขนส่ง และ (6) Collaboration and Participation ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
.
สิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนในชิลี
.
รัฐบาลชิลีไม่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์หรือมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนเป็นรายสาขา แต่มี incentive scheme สำหรับการลงทุนจากต่างชาติโดยทั่วไป เช่น
.
(1) สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดร้อยละ 35 สำหรับการลงทุนใน R&D แต่ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(2) สิทธิยกเว้น VAT สำหรับการลงทุนวงเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
(3) เงินสนับสนุนในขั้น pre-investment studies สูงสุด 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุน วงเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
(4) เงินทุนสนับสนุน (co-financing support) สำหรับการลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี วงเงินสูงสุดร้อยละ 30 ของมูลค่าการลงทุน แต่ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อโครงการ
(5) เงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรือ packaging วงเงินระหว่าง 90,000 – 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ
(6) สิทธิทางภาษีสำหรับการลงทุนในพื้นที่ห่างไกล อาทิ ในแคว้น Arica and Parinacota และ Tarapaca ทางพรมแดนตอนเหนือของชิลี หรือในแคว้น Aysen และ Magallanes ทางตอนใต้ของชิลี
.
นอกจากนี้ ชิลียังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้ในเกือบทุกสาขาและสามารถถือหุ้นได้ร้อยละ 100 โดยไทยและชีลีมีความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2558 ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าแล้วเกือบทั้งหมด เหลือเพียงสินค้าอ่อนไหวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1 ของรายการสินค้าภายใต้ความตกลง ซึ่งมีกำหนดลดภาษีเป็นศูนย์ภายในปี 2566 นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีชิลียังเปิดตลาดให้ไทยเข้าไปลงทุนเกือบทุกสาขาบริการได้ถึงร้อยละ 100 โดยเปิดตลาดเพิ่มเติมให้นักลงทุนจากไทยมากกว่าในกรอบ WTO ได้แก่ บริการด้านกฎหมาย บริการ ให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ/วิศวกรรม บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการค้าส่ง/ค้าปลีก บริการเกี่ยวเนื่องภาคการผลิต รวมทั้งบริการนวดแผนไทยและบริการกีฬา/นันทนาการ รวมถึง มวยไทย ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในชิลี นอกจากนี้ ไทยและชิลีมีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2553
.
ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศในลาตินอเมริกาที่มีศักยภาพโดดเด่นในด้านการพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน โดยมีข้อได้เปรียบจากภูมิประเทศและทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีสำหรับการลงทุน นโยบายที่ต่อเนื่องและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกภาคส่วนของรัฐ การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั้งในระดับประเทศ และในระดับชุมชน ประกอบกับประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความสนใจในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสูงมาก ชิลีจึงเป็นตลาดการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจมากในลาตินอเมริกาสำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจหรือมีศักยภาพในสาขานี้ ซึ่งจะเป็นผลดีกับการเชื่อมโยงการลงทุนของไทยกับต่างประเทศในสาขาธุรกิจแห่งอนาคต และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ และส่งเสริม technology transfer ในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยไปสู่พลังงานทางเลือกให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก