การที่แคนาดาได้ออกกฎหมาย “Cannabis Act” ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา และทําให้ชาวแคนาดาทั่วไปสามารถใช้กัญชาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไปนั้น ก่อให้เกิดกระแสตอบรับอย่างคึกคักจากหลายวงการทั้งในประเทศแคนาดาเอง และในระดับโลกที่เริ่มยอมรับการใช้ประโยชน์จากกัญชามากขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ถึงแม้ว่าทางการจะยังไม่ยอมให้สินค้าอื่นๆ ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่บรรดานักลงทุนและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต และจําหน่ายกัญชาโดยตรง หรือผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มต่างก็เล็งเห็นถึงโอกาส และหันมาให้ความสนใจถึงช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมกันเป็นอย่างมาก เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ และขยายตลาดสินค้าของตนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จากการสํารวจพบว่า แนวโน้มธุรกิจสินค้าและบริการในแวดวงตลาดกัญชาที่น่าสนใจในขณะนี้ ได้แก่ [su_spacer size=”20″]
1) ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา (Cannabis Edible) โดยแนวโน้มของตลาด Cannabis Edibles ซึ่งหากว่ากันโดยขนาดแล้วจะใหญ่กว่าตลาดผู้บริโภคกัญชาโดยตรงมาก เพราะผู้ผลิตสามารถพัฒนาและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายรูปแบบ มีฐานลูกค้าที่กว้างขวางกว่า และสามารถสร้างกําไรได้มากกว่ากัญชาแบบสูบทั่วไป โดยข้อมูลจากบริษัท Grizzle เชื่อว่ามูลค่าตลาดอาหาร และขนมจากกัญชาภายใน 2022 จะอยู่ที่ราว 4,000 ล้านเหรียญแคนาดา สอดรับกับข้อมูลจากสถาบันการเงิน Deloitte ที่ประเมินว่า หลังจากที่รัฐบาลแคนาดามีแผนกําหนดให้ผลิตภัณฑ์กัญชาแบบ Edible ถูกกฎหมายภายในสิ้นปีนี้ จะมีชาวแคนาดาที่ใช้กัญชาอยู่ถึงร้อยละ 60 เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์กัญชาแบบรับประทานได้ด้วย โดยผลิตภัณฑ์อาหาร และขนมที่น่าจะได้รับความนิยมมากสุด ได้แก่ ขนมบราวนี่ และคุ้กกี้ (51%) ช็อกโกแล็ต (43%) และ อื่นๆ (6%) [su_spacer size=”20″]
2) เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขแคนาดาได้มีการกําหนดระเบียบไว้ว่า ไม่ให้นำกัญชาไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ผู้ประกอบการแอลกอฮอล์ค่ายยักษ์ต่าง ๆ ก็ยังเดินหน้าหาช่องทางขยายตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของตนเองกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่ายผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อย่างบริษัท คอนสเตลเลชั่น แบรนดส์ เจ้าของเบียร์ดังอย่าง Corona และ Modelo ที่จับมือกับบริษัท Canopy Growth ผู้ผลิตกัญชารายใหญ่สุดของแคนาดาเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทําการตลาดร่วมกัน หรือการที่ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อีกรายคือบริษัท มอลสัน คอรส์ บริวริ่ง กับผู้ผลิตกัญชา HEXO มีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมกัญชาแบบมีสาร THC หรือแม้กระทั่งผู้ผลิตน้ำอัดลมอย่างบริษัทโคคาโคล่าก็เร่งพัฒนาสูตรผลิตเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาประเภท CBD เพื่อสุขภาพตามเทรนด์ที่หลายบริษัทในโลกเริ่มบุกธุรกิจ เครื่องดื่มแนวนี้ นาย Mark Hunter ผู้บริหารของบริษัท มอลสัน คอรส์ บริวริ่ง เห็นว่าเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชามีความน่าสนใจมาก โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนตลาดคิดเป็นร้อยละ 30 ของตลาดผลิตภัณฑ์กัญชาแบบ Edible ทั้งนี้ ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ อาทิ กาแฟ น้ำโซดา น้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของกัญชาแบบที่มีสาร CBD เป็นส่วนใหญ่ เพราะสามารถอิงกระแสในเรื่องของสุขภาพ ช่วยบรรเทาอาการปวด และคลายความกังวลได้ ต่างจากรูปแบบที่เป็นส่วนผสมของสาร THC ที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท (psychoactive substance) ซึ่งทําให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมา ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีสาร CBD (Cannabidoids) เป็นส่วนประกอบโดยตรง อาทิ ผลิตภัณฑ์กาแฟ ช็อกโกแล็ต ครีมโลชั่นทาผิว สบู่ Bath Bomb รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สําหรับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ ที่ผู้ผลิตมีการสร้างจุดเด่นของผลิตภัณฑ์โดยการใส่สาร CBD ลงไป เพราะมีสรรพคุณที่ช่วยบรรเทาอาการปวด คลายความกังวล และช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับได้ โดยสาร CBD นี้เป็นสารที่มีอยู่มากและสามารถสกัดได้จากพืชกัญชงหรือ Hemp ไม่ใช่กัญชา หรือ Marijuana แต่เป็นพืชในตระกูลเดียวกัน คือ (Cannabis) ทั้งนี้ แคนาดาถือเป็นผู้ปลูกกัญชงรายใหญ่รายหนึ่งของโลก เนื่องด้วยส่วนหนึ่งมาจากการที่ทางการอนุญาตให้มีการปลูกได้มาตั้งแต่ปี 1998 ดังนั้นสาร CBD จึงได้รับความนิยม และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน ความตื่นตัวของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีสาร CBD เป็นส่วนประกอบมากขึ้นหลังจากที่ห้าง Walmart ประกาศว่าอาจจะมีการจําหน่ายสินค้ากัญชาที่มีส่วนผสมของ CBD ภายในพื้นที่ของห้างฯ ในอนาคต และมีกระแสตอบรับที่ดีจนส่งให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้น 2.5% ทันที จนกลายเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมค้าปลีกต่อไป ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องในเมืองใหญ่ของแคนาดาที่มีการใช้กัญชาทั่วไปอย่างแวนคูเวอร์หรือโทรอนโต จะเริ่มเห็นมีการนํากัญชาเข้ามาตามร้านกาแฟ หรือร้านจําหน่ายอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ มากขึ้น หรือการที่ผู้ปลูกกัญชารายใหญ่เช่นบริษัท Canopy Growth มีแผนที่จะปรับปรุงอาคารเก่าอย่างโรงงานผลิตช็อกโกแล็ตยี่ห้อ Hershey ในเมือง Smith Falls รัฐออนแทรีโอ ให้เป็นศูนย์ท่องเที่ยวเรียนรู้เกี่ยวกับกัญชา นอกจากนี้ ยังพบว่าในปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจองทัวร์ระดับหรู (Luxury) เพื่อเดินทางเข้ามาพักผ่อนในช่วงวันหยุดในแคนาดาเพื่อสัมผัสประสบการณ์การใช้กัญชาได้อย่างเต็มที่ และปลอดภัย ถึงแม้ว่ามูลค่าตลาดบริการกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเทียบเท่ามูลค่าตลาดสินค้าจากกัญชาได้แต่ก็เห็นถึงอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง [su_spacer size=”20″]
สําหรับการเปิดเสรีกัญชาอย่างเต็มรูปแบบนั้น ถือได้ว่าแคนาดาเป็นประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างกว้างขวางเป็นลําดับต้น ๆ ถึงแม้ว่าจะยังคงมีข้อจํากัด และระเบียบที่เข้มงวดตามมา อาทิ การควบคุมการปลูก การจําหน่าย การนําเข้าหรือส่งออก เป็นต้น ซึ่งโดยหลักการสําคัญที่รัฐบาลแคนาดาประกาศควบคู่ไปกับการเปิดเสรีการใช้กัญชาคือจะต้องป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ จะต้องไม่เป็นแหล่งรายได้ให้มิจฉาชีพ และจะต้องปลอดภัยต่อสุขภาพของบุคคลทั่วไป ส่วนสินค้ากัญชาแบบ Edibles ที่ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้จําหน่ายได้อย่างถูกกฎหมายนั้น หลังจากที่ได้ออกระเบียบและกฎเกณฑ์ควบคุมเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลน่าจะประกาศอนุญาตให้จำหน่ายเพื่อบริโภคได้ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ จึงทำให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ เกิดความตื่นตัวที่จะพัฒนาสินค้าให้รองรับความต้องการภายในตลาดได้ทันที [su_spacer size=”20″]
ในส่วนของประเทศไทยที่เพิ่งจะมีการปลดล็อกกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ให้สามารถใช้กัญชาในทางการแพทย์ และการวิจัยได้นั้น ได้สร้างกระแสความสนใจในเรื่องกัญชา และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวของกับกัญชาให้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยผู้ประกอบการส่วนมากคาดการณ์ว่าศูนย์กลางการผลิตกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์อาจจะย้ายฐานการผลิตทั้งวงจรห่วงโซ่มูลค่ามาที่ประเทศไทยเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าในอีกหลายประเทศ และสายพันธุ์กัญชาที่ดีที่สุดอยู่ที่ประเทศไทย จึงเชื่อว่าจะมีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และนับเป็นก้าวแรกที่สําคัญสําหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าวให้สามารถพัฒนาองค์ความรู้เพื่อนําไปต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ [su_spacer size=”20″]
นอกจากตัวกัญชาเองที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากแต่ยังมีโอกาสค่อนข้างจํากัดในประเทศไทยแล้ว กัญชง หรือ Hemp ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยได้มีการอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้อย่างถูกกฎหมายในบางพื้นที่มาแล้วตั้งแต่ปี 2560 และมีแนวโน้มว่าสาร CBD ซึ่งสามารถสกัดได้มากจากกัญชงกําลังอยู่ในกระแสความนิยมในระดับโลกเช่นเดียวกับกัญชาแต่มีข้อจํากัดน้อยกว่า และสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางกว่าสาร THC จากกัญชาที่มีอันตรายมากกว่า จึงน่าจะเป็นอีกโอกาสหนึ่งของผู้ประกอบการไทยในขณะนี้ ที่จะศึกษาตลาด และความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต [su_spacer size=”20″]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา