ผลการสํารวจตลาดผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติโดยสำนักงานการค้าต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต พบว่าความห่วงกังวลในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นกระแสนิยมใหม่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในโลกตะวันตกซึ่งมีเทคโนโลยีในด้านการผลิตที่ก้าวหน้า
[su_spacer]
อาหารมังสวิรัติแปรรูปจึงกลายเป็นแนวนิยมที่เปลี่ยนพฤติกรรมของตลาด โดยส่งผลให้ผู้บริโภคลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงหลายเท่าตัว และส่งผลให้ได้มีผลิตภัณฑ์อาหารมังสวิรัติแปรรูป (plant-based food and meat) ชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นในตลาดหลายรูปแบบ และกลายเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว
[su_spacer]
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของตลาดมีสาเหตุหลักมาจากแนวคิดที่ว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ และก่อให้เกิดปัญหามากกว่าอุตสาหกรรมการผลิตประเภทอื่น ๆ จนก่อให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของการลดภาวะโลกร้อนด้วยการควบคุมปฏิกิริยาก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากขึ้นด้วย
[su_spacer]
ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมอาหารมังสวิรัติแปรรูปกําลังเป็นที่นิยมอย่างมากในทวีปอเมริกาเหนือ สัดส่วนอัตราการเติบโตของการบริโภคอาหารประเภทนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสแฟชัน (fad) เพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่เป็นกระแสที่กําลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริโภคในกลุ่มนี้เพิ่มจํานวนมากขึ้นทุก ๆ ปี ทําให้ตลาดนี้ไม่ใช่ตลาดเฉพาะ (Niche Market) อีกต่อไป หลายบริษัทที่ทําธุรกิจการผลิตสินค้าประเภทนี้ก็กําลังขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในประเทศแคนาดา ตัวอย่างเช่น บริษัท Beyond Meat Inc. ซึ่งมีสํานักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ประกอบการผลิตและจําหน่ายสินค้าอาหารมังสวิรัติแปรรูปที่มีความหลากหลายในชนิดและขนาดของสินค้า
[su_spacer]
ปรากฏการณ์กระแสนิยมในผลิตภัณฑ์ของบริษัท Beyond Meat Inc. เป็นที่ตอบรับกันอย่างกว้างขวาง หุ้นของบริษัทฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันที่กว่า 400% ตั้งแต่เริ่มเข้า Initial public offering ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีร้านค้าปลีกมากกว่า 3,000 ร้านทั่วทุกมุมของประเทศแคนาดาที่จัดจําหน่ายสินค้าของบริษัท Beyond Meat Inc. ยิ่งไปกว่านั้น หลายบริษัทได้ปรับแผนธุรกิจให้เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปประเภทมังสวิรัติและขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการที่บริษัท Maple Leaf Foods ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของแคนาดา ได้ประกาศการลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตสินค้ามังสวิรัติแปรรูป (plant-based food) ในรัฐอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้พื้นที่มากกว่า 230,000 ฟุตในการสร้าง และจะทําให้โรงงานนี้กลายเป็นโรงงานผลิตสินค้ามังสวิรัติแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ
[su_spacer]
นอกจากกระแสความนิยมในการบริโภคอาหารแปรรูปมังสวิรัติที่อยู่ในรูปของอาหารคาว (Main Dishes) แล้ว เทรนด์การบริโภคของหวานในรูปแบบของมังสวิรัติ หรือของหวานที่ลดส่วนผสมที่มาจากนมก็กําลังได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมข้าวโอ๊ต และไอศกรีมที่ไม่ได้ผลิตจากนม โดยปัจจุบันมีขนมหวานหลายชนิดที่วางขายอยู่ในตลาดแคนาดาที่ใช้ครีมของมะพร้าวแทนการใช้นมสด ซึ่งจะเป็นโอกาสสําคัญของประเทศไทยที่มีผลิตภัณฑ์มะพร้าว และผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบหลายต่อหลายอย่าง
[su_spacer]
จากการจัดงานเทศกาลไทย Amazing Thailand ครั้งที่ 3 ที่กรุงออตาวา และ Destination Thailand ครั้งที่ 6 ที่นครโทรอนโต ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ในปีนี้พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจของแคนาดาที่นําเข้าสินค้าอาหารจากทวีปเอเชียจํานวนมากเริ่มเปิดตัวสินค้าอาหารใหม่ ๆ ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น มะพร้าวน้ำหอมที่ใช้เทคโนโลยีการควบคุมสภาพวะแช่แข็งภายใต้อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่กําหนดเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทําให้น้ำและเนื้อของมะพร้าวสดคงทนไม่เปลี่ยนแปลง บริษัทได้จดสิทธิบัตรการเก็บรักษาความสดของน้ำและเนื้อมะพร้าวตามกระบวนการแช่แข็งดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ coconut chips ที่ปรุงแต่งรสชาติด้วยสมุนไพรไทย และมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ใช้มะพร้าวเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ไอศกรีม หรือขนมโมจิที่ใช้ครีมจากมะพร้าวแทนนมสด เป็นต้น
[su_spacer]
ขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา และสมาชิกทีมประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักงานวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรในต่างประเทศ และสำนักงานการค้าในต่างประเทศ ร่วมมือกันทําโครงการผลักดันการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารสําเร็จรูปของไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนทางธุรกิจให้มากขึ้นด้วย เมื่อปีที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ร่วมกับทีมประเทศไทยผลักดันการใช้พัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหาร ภายใต้โครงการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของไทยกับแคนาดาร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ใช้โปรตีนจากแมลง เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกร ของไทยจํานวนมากประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดสําหรับการแปรรูปให้เป็นอาหาร สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวาและทีมประเทศไทย ร่วมกับสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม. เชียงใหม่ สถาบัน Foodlnopolis และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดของไทย จัดการสัมมนาการแปรรูปโปรตีนจากจิ้งหรีด ขึ้นที่เชียงใหม่ โดยเชิญผู้บริหารของบริษัท Entomo จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดของแคนาดาที่มีการค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงสําหรับใช้ในการผลิตอาหารสําเร็จรูปจากแมลงที่ให้พลังงาน (Energy Bars) และเป็นที่นิยมอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือขณะนี้ พร้อมทั้งดําเนินกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยที่พร้อมจะร่วมลงทุนกับบริษัทฯ ต่อไปด้วย
[su_spacer]
กระแสความนิยมอาหารมังสวิรัติแปรรูป และอาหารโปรตีนแปรรูปจากแมลง ถือว่าเป็นโอกาสดีสําหรับผู้ประกอบการของไทย แคนาดานําเข้าสินค้าโปรตีนแปรรูปที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากยิ่งขึ้นทุกปี ตลาดสินค้าอาหารมังสวิรัติแปรรูปในประเทศแคนาดาไม่ใช่ตลาดเล็ก ๆ ที่เป็นตลาดเฉพาะอีกต่อไป ทุกวันนี้ ห้างค้าปลีกส่วนใหญ่เกือบทุกห้างได้วางจําหน่ายสินค้าประเภทนี้มากขึ้น สินค้าอาหารมังสวิรัติในประเทศแคนาดา ได้มีการพัฒนาทั้งในเรื่องของรูปแบบสินค้า รสชาติ และบรรจุภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย และสะดวกต่อการบริโภคมากขึ้น
[su_spacer]
ปัจจุบันแคนาดาอนุญาตให้นําเข้าสินค้าเนื้อไก่ปรุงสุกจากประเทศไทยได้เพียงอย่างเดียว ยังไม่อนุญาตให้นําเข้าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่สดแช่แข็ง เนื้อหมู หรือเนื้อวัว ฉะนั้น กระแสความนิยมอาหารแปรรูปมังสวิรัติจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยมีทางเลือกในการเจาะตลาดอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารของแคนาดามากขึ้นในอนาคต รวมทั้งกลุ่มอาหารประเภทของหวานที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์จากนม (Non-Dairy Ice Cream) ด้วย
[su_spacer]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา