รัฐบาลแคนาดากําลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการกําหนดขึ้นอัตราภาษีนําเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จาก จีน หลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของ สหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มภาษีรถยนต์ EV จากจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่า อยู่ที่อัตรา 100% ไปเมื่อไม่นานมานี้ และสั่งให้เริ่มมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 ในขณะที่แคนาดามีการจัดเก็บภาษีนําเข้ารถ EV จากจีนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 เท่านั้น
แม้ตลาดรถ EV จากจีนจะไม่ใช่ผู้เล่นหลักในแคนาดา และอุตสาหกรรมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนยังมีสัดส่วน การลงทุนในประเทศน้อย แต่การที่ Tesla ได้ย้ายฐานการผลิตรถจากสหรัฐฯ ไปยังนครเซียงไฮ้เพื่อส่งมาจําหน่ายในตลาดอเมริกาเหนือ ส่งผลให้แคนาดามีการนําเข้ารถ Tesla ที่ผลิตจากจีนเพิ่มขึ้น 5 เท่า หรือคิดเป็นจํานวนราว 44,000 คันในปีที่ผ่านมา
นาย Brian Kingston ประธานสมาคมผู้ผลิตยานยนต์แคนาดามองว่ามีโอกาสสูงที่รัฐจะขึ้นภาษีนําเข้ารถ EV จากจีนนั้น เนื่องจากแคนาดามักคงนโยบายร่วมกับกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะเห็นว่าตลาดรถ EV จีนได้ทําการเจาะตลาดยุโรปและกําลังรุกเข้าสู่ตลาดอเมริกาเหนือ นอกจากนั้นการขึ้นภาษียังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์การค้าแคนาดากับจีนด้วยเช่นกัน
ด้านนาย Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แคนาดา ย้ำถึงจุดมุ่งหมายหลักของประเทศ คือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้ แคนาดาได้มีการตกลงสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับสหรัฐฯ ที่ครอบคลุมถึงประเด็นแหล่งแร่การผลิต แบตเตอรี่ยานยนต์ และภาคการผลิตรถยนต์
นอกจากนี้ แคนาดาได้ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์แคนาดากับบริษัทชั้นนํา อาทิ Honda STELLANTIS และ Volkswagen เปิดโรงงานผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่และชิ้นส่วนในรัฐออนทาริโอ เพื่อผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างงานให้คนในประเทศ ที่ปัจจุบันมีการจ้างงานกว่า 500,000 รายในอุตสาหกรรมดังกล่าว
การเติบโตของอุตสาหกรรม EV ในแคนาดามีแนวโน้มขยายตัวและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล
โดยรัฐบาลแคนาดาตั้งนโยบายให้ยอดขายรถยนต์ 1 ใน 5 ต้องเป็นรถยนต์ EV ภายในปี 2569 และขยายสัดเพิ่มเป็น 3 ใน 5 ภายในปี 2573 และเป็นสัดส่วน 100% ภายในปี 2578 ทั้งนี้ ในปี 2566 ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ที่เป็น EV และปลั๊กอินไฮบริด คิดเป็น 11% ของยอดจดทะเบียนรถใหม่ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
จากการที่แคนาดาและหลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการสนับสนุนระบบและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงแนวทางกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจากผู้ใช้รถยนต์ ทําให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง สําหรับประเทศไทย โดยภาพรวมถือว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมได้หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เป็นโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนบางประเภทที่จะพัฒนาให้เข้ากับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์/ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแวนคูเวอร์