แม้ราคาช็อกโกแลตในตลาดจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากปัจจัยต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้มีผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อการบริโภคช็อกโกแลตในตลาดแคนาดา
สถาบัน Inter-American Institute for Cooperation on Agriculture ได้รายงานการบริโภคช็อกโกแลตของชาวแคนาดาว่า มีอัตราเฉลี่ย 6.4 กก./ปี หรือราว 160 แท่ง สอดคล้องกับผลสำรวจของ บริษัทมิลเทล ผู้วิจัยตลาดระดับโลก ที่ได้สำรวจผู้บริโภค 2,000 คน ในเดือน กันยายน 2566 พบว่า 86% ยังคงบริโภคช็อกโกแลตในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งยอมรับว่าบริโภคมากขึ้นตั้งแต่มีมาตรการ lockdown ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ที่น่าสนใจ คือ 92% เชื่อว่า ช็อกโกแลตมีประโยชน์ช่วยเยียวยาจิตใจและลดภาวะตึงเครียดลงได้
นาย Jo-Ann McArthur ประธานที่ปรึกษาด้านการตลาดอาหาร Nourish Food Marketing นครโทรอนโตเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชาวแคนาดายินดีจ่ายเงินสำหรับอาหารที่เชื่อว่าช่วยทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น อารมณ์ดีขึ้น ซึ่งบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดช็อกโกแลตเพื่อตอบสนองเทรนด์ดังกล่าว เช่น การออกช็อกโกแลตแบรนด์ Moodibar ที่ออกรสชาติขนมเรียกตามชื่ออารมณ์ เช่น Blah Bar, Hungover, Grumpy ซึ่งมีกระแสตอบรับที่ดี และบริษัท Mars Wrigley แคนาดา ที่ออกผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตมีรสชาติซับซ้อน ตื่นเต้น เช่น คุ้กกี้โด ทิรามิสุ เป็นต้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ (Gen-Z)
เทรนด์อาหารบำรุงจิตใจ ช่วยให้อารมณ์ดียังคงครองใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องทั้งในแคนาดาและในต่างประเทศ รวมถึงไทย ส่งผลดีต่อการทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเรื่องการบำรุงจิตใจ การปรับสมดุลอารมณ์ ช่วยให้อารมณ์ดีเป็นจุดขาย เช่น อาหารที่มีโอเมกาสูง ธัญพืชไม่ขัดสี อาหาร probiotics ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อะโวคาโด ช็อกโกแลต เป็นต้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการทางด้านอาหารและผลิตภัณฑ์ หากมีการใช้วัตถุดิบข้างต้นโดยสร้างการมูลค่าสินค้าเพื่อเป็นอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้น !
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
ที่มา :